อยุธยา 15 ต.ค. – พาณิชย์และพันธมิตรร่วมกันคิกออฟเริ่มจ่ายเงินชาวนาแล้วกว่า 3.4 แสนครัวเรือนแล้ว เป็นเงินกว่า 9,400 ล้านบาท พร้อมจ่ายทุกๆ 15 วัน เกษตรกรปลื้มได้รับเงินแล้วจะนำไปลงทุนต่อ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานกดปุ่ม kick off จ่ายเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ให้ชาวนาทั้งประเทศวันนี้ซึ่งเป็นผู้ปลูกข้าวรอบแรก ซึ่งเป็นชาวนาที่ได้รับส่วนต่างราคา กว่า 349,000 ครัวเรือน งบประมาณทั้งสิ้น 9,400 ล้านบาท โดยใช้ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2562 / 2563 รอบที่ 1 เป็นเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนวันที่ 16 ตุลาคม 2562
ทั้งนี้ โครงการประกันรายได้ผู้ปลูกข้าวเป็นหนึ่งในโครงการของรัฐบาลที่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และตนคือนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เป็นผู้ดำเนินการและวันนี้ครบ 90 วันสามารถจ่ายเงินส่วนต่างรอบแรกได้แล้ว ซึ่งโครงการนี้รัฐบาลจะทำการประกันรายได้พืชเศรษฐกิจ 5 ชนิด คือ ปาล์มน้ำมัน ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพด ส่วนพืชผลตัวนั้นก็ดูแลเช่นกันด้วยนโยบายอื่นอีก และประกันรายได้ที่ได้ดำเนินการไปแล้วคือปาล์มน้ำมัน ซึ่งพืชแต่ละชนิดจะทยอยดำเนินการตามความเหมาะสม
สำหรับการประกันรายได้ผู้ปลูกข้าวเพื่อชาวนานั้น คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 อนุมัติในหลักการโครงการ ประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 โดยรัฐบาลจะประกันรายได้ให้แก่ เกษตรกร ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 16 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 25 ตัน และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 16 ตัน
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการกํากับดูแลและกําหนดเกณฑ์ กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้มีมติเห็นชอบการกําหนดราคา เกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้เกษตรกร ผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 ในงวดที่ 1 ซึ่งราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงข้าวเปลือกหอมมะลิ อยู่ที่ตันละ 16,723.09 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ อยู่ที่ตันละ 15,651.05 บาท ข้าวเปลือกเจ้า อยู่ที่ตันละ 7,530.36 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี อยู่ที่ตันละ 10,216.55 บาท และข้าวเปลือกเหนียว อยู่ที่ตันละ 18,926.86 บาท โดยรัฐบาลต้องจ่ายชดเชยส่วนต่างในข้าวเปลือก 2 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 2,469.64 บาท และ ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 783.45 บาท ส่วนชนิดที่เหลือนั้นอยู่ในเกณฑ์ราคาสูงเลยเพดานของราคาประกัน ทั้งนี้ การจ่ายเงินชดเชยงวดแรก ธ.ก.ส. จะโอนเงินชดเชยเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง ซึ่งเกษตรกรจะสามารถเบิกถอนเงินได้ทันทีภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2562 ซึ่งในงวดแรก มีเกษตรกรได้รับเงินชดเชยจากข้าวเปลือกเจ้าและข้าวเปลือกหอมปทุมธานี จํานวน ประมาณ 349,000 ครัวเรือน วงเงินชดเชยประมาณ 9,400 ล้านบาท
น.ส.วรรณชุลี คงวัน เกษตรกรผู้ปลูกข้าวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ปัจจุบันเพาะปลูกข้าวเปลือกเจ้า พื้นที่รวม 13 ไร่ และจากการเข้าร่วมโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 ได้รับเงินชดเชยส่วนต่างแล้วจำนวน 20,000 บาท ยอมรับว่า โครงการนี้ช่วยยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกรได้มีเงินทุนในการเพาะปลูกข้าวรอบต่อไปเพิ่มขึ้น จากเดินขายตรงให้กับโรงสีได้ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 6,700 บาท แต่ราคาเฉลี่ยที่เกษตรกรขายได้จากโครงการประกันรายได้ฯครั้งนี้จะอยู่ที่ตันละ 7,000 บาท โดยได้ส่วนต่างประมาณไร่ละ 2,000 บาท และจะจ่ายในรอบต่อๆไปทุกๆ 15 วันไปจนกว่าจะสิ้นสุดโครงการประกันในวันที่ 31 ตุลาคม 63 และถือเป็นข่าวดีสำหรับเกษตรกรชาวสวนยางที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบโครงการประกันยางพาราแล้ววันนี้ โดยคาดว่าชาวสวนยางจะได้รับเงินชดเชยได้ประมาณต้นเดือน พ.ย. นี้ และสินค้าเกษตรที่เหลือ 2 ชนิด ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลังจะดำเนินการเร่งพิจารณากันต่อไป
นายแฉล้ม ทรงศิริ หนึ่งในเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวด้วยว่า ราคาส่วนต่างรอบแรกที่ได้รับจากโครงการประกันรายได้เกษตรผู้ปลูกข้าวครั้งนี้ 12 ไร่ผลผลิตรวม 13 ตัน ได้รับเงินชดเชยจำนวน 34,000 บาท พร้อมระบุ โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี ช่วยลดต้นทุนและปัจจัยการผลิต ทั้ง ค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลง และค่าเช่าที่นา ซึ่งปัจจุบันราคาเช่าอยู่ที่ไร่ละ 1,000 – 1,500 บาท ส่วนปัญหาน้ำเพื่อการเกษตร ยอมรับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนการเพาะปลูกสูงขึ้น แต่หากราคาข้าวในตลาดสูงมองว่ารัฐบาลก็ไม่มีจำเป็นที่จะต้องประกันรายได้ฯ ดังนั้นรัฐบาลควรที่จะเข้ามาดูแลราคาปุ๋ยไม่ให้สูงเกินควร เพื่อช่วยเหลือเกษตรเป็นต้น
สำหรับยางพารา วันนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้วโดยประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกยางสำหรับยางแผ่นดิบชั้นสามกิโลกรัมละ 60 บาท น้ำยางสดกิโลกรัมละ 57 บาท ยางก้อนถ้วยกิโลกรัมละ 23 บาท ซึ่งได้กำหนดให้จ่ายเงินส่วนต่างตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน สำหรับยางที่ต้องใช้เวลา 15 วัน ก็เพราะว่าจะต้องทยอยตรวจสวน ซึ่งให้เวลาการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ตรวจสวน 15 วัน ตรวจเสร็จก็จะโอนเงินทันทีผ่าน ธ.ก.ส. เข้าบัญชีเกษตรกร เตรียมไว้ 24,000 ล้านบาท จ่ายทั้งหมด 6 งวด . – สำนักข่าวไทย