ปักกิ่ง, 16 ม.ค. (ซินหัว) — เมื่อไม่นานนี้ คณะนักวิจัยชาวจีนได้พัฒนาวิธีการสังเคราะห์แป้งเทียมและโปรตีนจากจุลินทรีย์ (microbial proteins) ที่มีประสิทธิภาพสูงด้วยการใช้ซังข้าวโพด ซึ่งวิธีการนี้สามารถลดต้นทุนการผลิตแป้งเทียมและนำเสนอทางเลือกใหม่ในการผลิตอาหาร
รายงานระบุว่าจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก่อให้เกิดความท้าทายอย่างมากต่อความมั่นคงทางอาหาร ดังนั้นการเปลี่ยนของเสียทางการเกษตรให้กลายเป็นอาหารเทียมจึงนับเป็นวิธีการสำคัญในการบรรเทาวิกฤตการณ์ด้านอาหารและบรรลุการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน
คณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ สังกัดสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรจีน (CAAS) และสถาบันอื่นๆ ในจีน ได้ใช้ระบบโมเลกุลเอนไซม์หลากชนิด (multi-enzyme) และยีสต์ของขนมปัง เพื่อเปลี่ยนเซลลูโลส (cellulose) ในซังข้าวโพดให้เป็นแป้งเทียม และผลิตโปรตีนจากจุลินทรีย์ด้วยกระบวนการหมักภายใต้สภาวะที่มีก๊าซออกซิเจน (aerobic conditions)
ผลการศึกษาพบว่ากระบวนการผลิตทั้งหมดใช้เงินลงทุนค่าอุปกรณ์เพียงเล็กน้อย และไม่ต้องใช้โคเอนไซม์ (coenzyme) หรือพลังงาน รวมถึงไม่นำไปสู่การสูญเสียน้ำตาล ซึ่งก่อให้เกิดความเป็นไปได้ในการผลิตแป้งเทียมและโปรตีนจากจุลินทรีย์ด้วยต้นทุนต่ำ
อนึ่ง ผลการศึกษาข้างต้นได้รับการตีพิมพ์ในวารสารไซเอนซ์ บูลเลติน (Science Bulletin)- สำนักข่าวซินหัว
คลิกเพื่ออ่านข่าวภาษาอังกฤษ https://english.news.cn/20230116/bc66ed28cbdf49ca99ba3085fd0d1b73/c.html
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง https://www.xinhuathai.com/china/332859_20230117
ขอบคุณภาพจาก Xinhua