กรุงเทพฯ 3 ก.ย. – ปี 63 โรงกลั่นฯ พร้อมปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลง ทั้งไทยประกาศใช้บี 10 และ IMO บังคับใช้น้ำมันเตากำมะถันต่ำ
นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสด้านการกลั่นและปิโตรเคมี บมจ.ไทยออยล์ (TOP) และประธานกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กลุ่มโรงกลั่นน้ำมันพร้อมสนับสนุนรัฐบาลที่จะผลักดันให้น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซล (บี 100) ในสัดส่วน ร้อยละ10 หรือบี 10 เป็นน้ำมันดีเซลมาตรฐาน ตั้งแต่วันที่ 1มกราคม 2563 ทดแทนบี 7 เพราะจะช่วยผลักดันราคาน้ำมันปาล์มให้สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ยอมรับจะทำให้ปริมาณเนื้อน้ำมันที่ใช้ลดลงประมาณร้อยละ 3-5 ด้วยเช่นกัน หากความต้องการใช้น้ำมันในประเทศไม่ได้เพิ่มขึ้น ก็เชื่อว่ากลุ่มโรงกลั่นน่าจะสามารถปรับตัวด้วยการส่งออก ซึ่งแต่ละโรงกลั่นก็มีฐานการส่งออกน้ำมันอยู่บ้างแล้ว
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เอกชนต้องการเห็น คือ ภาครัฐควรกำหนดสเปกของบี 100 ให้มีความชัดเจน เพื่อให้เหมาะสมในการนำมาผสมเป็นบี 10 และควรจะต้องให้เป็นที่ยอมรับของค่ายรถยนต์ยุโรปด้วย เนื่องจากการใช้บี 10 ในปัจจุบันมีเพียงค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่ให้การยอมรับ
สำหรับความคืบหน้าการประกาศใช้มาตรฐานน้ำมันยูโร 5 และการใช้มาตรฐานเครื่องยนต์ยูโร 5 และยูโร 6 เบื้องต้นคาดว่าได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว และเตรียมนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็ว ๆ นี้ ก่อนจะประกาศออกมาพร้อมกัน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวรองรับได้ทัน โดยคาดว่ามาตรฐานน้ำมันยูโร 5 จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2567 ส่วนมาตรฐานไอเสียที่ออกจากเครื่องยนต์ยูโร 5 และยูโร 6 น่าจะบังคับใช้ปี 2564 และปี 2565 ตามลำดับ โดยทุกโรงกลั่นน้ำมันอื่น ๆ ก็ต้องลงทุนเพิ่มเติม เพื่อปรับปรุงรองรับยูโร 5 ซึ่งในส่วนของโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ที่อยู่ระหว่างดำเนินโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ซึ่งเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและเพิ่มกำลังการกลั่นน้ำมันเป็น 400,000 บาร์เรล/วัน จาก 275,000 บาร์เรล/วันในปัจจุบันนั้น จะสามารถรองรับน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ได้ โดยโครงการดังกล่าวจะเสร็จปี 2566
ส่วนค่าการกลั่น (GRM) ในช่วงไตรมาส 3/2562 คาดว่าจจะปรับตัวดีกว่าไตรมาส 2/2562 ที่อยู่ที่ประมาณ 3 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เนื่องจากการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นตามฤดูกาลท่องเที่ยว ประกอบกับกรณีข้อพิพาททั้งกรณีอิหร่าน เวเนซุเอลา หรือปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) แม้จะมีปัจจัยฉุดรั้งจากสงครามการค้าก็ตาม ส่วนผลบวกจากเกณฑ์ใหม่ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ที่กำหนดให้เรือเดินสมุทรต้องใช้น้ำมันเตาที่มีค่ากำมะถันต่ำไม่เกินกว่าร้อยละ 0.5 ในปี 2563 จากระดับ ร้อยละ 3.5ในปัจจุบันนั้น ยังไม่เห็นชัดเจนมากนัก แต่เชื่อว่าน่าจะเห็นผลชัดเจนมากขึ้นไตรมาส 4/2562
สำหรับการบังคับใช้เกณฑ์ใหม่ของ IMO นั้น กำหนดเฉพาะตามน่านน้ำสากล ส่วนการเดินเรือภายในประเทศไทยยังไม่มีความชัดเจนว่าจะบังคับใช้ตามเกณฑ์ใหม่ของ IMO หรือไม่ หากไทยไม่บังคับใช้การเดินเรือในน่านน้ำไทยก็จะยังใช้น้ำมันเตาที่มีค่ากำมะถันระดับร้อยละ 3.5 เท่าเดิม แต่ในด้านของผู้ผลิตก็ได้เตรียมตัวรองรับได้ทุกสถานการณ์.-สำนักข่าวไทย