กรุงเทพฯ 19 ก.ย.-พรุ่งนี้ราคาดีเซลจะปรับลดลง 2 บาทจากปัจจุบันประมาณ 32 บาทเหลือ 30 บาท/ลิตร ตามนโยบายลดค่าครองชีพที่ลดทั้งภาษีและใช้เงินกองทุนน้ำมันอุดหนุนถึงสิ้นปี เฉียด 7 หมื่นล้านบาท “รสนา” เสนอคุมกำไรผู้ค้าน้ำมัน-โรงกลั่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จาก.มติ ครม.13 ก.ย.66 ช่วยลดค่าครองชีพประชาชนแบบเร่งด่วน พรุ่งนี้ (20ก.ย.66 ) ราคาดีเซลขายปลีกจะปรับลดลง 2 บาท/ลิตร จากปัจจุบันไม่เกิน 32 บาท/ลิตรเหลือเป็นประมาณ30 บาท/ลิตร ด้วยการลดน้ำมันดีเซล 2.50 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มต้นแต่วันที่ 20 กันยายน – 31 ธันวาคม 2566 ทำให้ ภาษีสรรพสามิตดีเซลบี7ลดจากปัจจุบันที่ 5.99 บาท/ลิตร มาอยู่ที่ 3.67 บาทต่อลิตร และเงินที่เหลือ 0.32 บาท/ลิตรนำไปบริหารจัดการที่เสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
โดยปัจจุบัน (ณ วันที่ 19 ก.ย.) กองทุนน้ำมันฯมีการอุดหนุนราคาดีเซลอยู่ที่ลิตรละ8.98 บาทซึ่งถือเป็นอัตราการอุดหนุนที่ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์เนื่องจากราคาดีเซลตลาดโลกมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงต่อเนื่อง และทำให้ฐานะกองทุนน้ำมัน ณ วันที่ 17 ก.ย. 66 ติดลบอยู่ที่ 61,641 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 16,902 ล้านบาทและบัญชีก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือLPG ติดลบ 44,739 ล้านบาท
นักวิเคราะห์ด้านพลังงานคาดว่าวงเงินอุดหนุนดีเซลรอบ3เดือนนี้จะอยู่ที่ราว7หมื่นล้านบาทประเมินจากดีเซลสิงคโปร์ราคาไม่เกิน130เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล(ขณะนี้อยู่ที่ราว124เหรียญ/บาร์เรล)เพราะช่วงไตรมาส4/66เป็นช่วงหน้าหนาวน้ำมันเพื่อความอบอุ่นจะพุ่งขึ้น วงเงินดังกล่าวคำนวณจากยอดใช้ดีเซลของประเทศราว 70 ล้านลิตร/วัน ช่วง3เดือนคาดสูญเสียเงินภาษีราว1.8 หมื่นล้านบาท ในขณะที่คาดเงินกองทุนน้ำมันฯต้องอุดหนุนต่อเนื่องราว1.1-1.2หมื่นล้านบาท/เดือน หรือรวม3เดือนไม่เกิน5หมื่นล้านบาทโดยกองทุนฯสามารถกู้ได้อัก5.5หมื่นล้านบาทจากกรอบวงเงินที่ก.คลังกำหนดให้กู้เสริมสภาพคล่องรวม1.1แสน โดยก่อนหน้านี้กู้มาแล้ว5.5หมื่นล้านบาท ในขณะที่การการตรึงราคาก๊าซหุงต้มไม่เกินถังละ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัมเริ่ม 1 ต.ค. -31ธ.ค. 66ก็ยังคาดว่ากรอบวงเงินอุดหนุนที่ไม่เกิน4.8หมื่นล้านบาทยังคงเพียงพอ
ก่อนหน้านี้จากสถานการณ์ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ถึง20 กรกฎาคม 2566 กระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตรวมทั้งสิ้น 7 ฉบับ ประเมินสูญเสียรายได้ภาษีประมาณ156,000 ล้านบาท
น.ส.รสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภคระบุว่าราคาน้ำมันดีเซลที่ลดลงไม่เกิน30บาท/ลิตรนั้น แต่นายกรัฐมนตรีไม่พูดถึงการลดราคาเบนซิน เพราะยังต้องการล้วงกระเป๋าคนใช้เบนซินมาอุ้มราคาดีเซล ใช่หรือไม่โดยดูจากวงเงินกองทุนน้ำมันฯ
“ลดราคาดีเซล โดยใช้มาตรการทางภาษีและกองทุนน้ำมัน ย่อมหมายถึงการเล่นมายากล ล้วงเงินคนใช้น้ำมันเบนซินไปชดเชยราคาดีเซลเพิ่มขึ้นอีก ใช่หรือไม่และรมว.พลังงานประกาศว่าจะลดราคาเบนซินให้เฉพาะกลุ่มพิเศษที่ต้องใช้เบนซินในการประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นคำประกาศที่ไร้ความเป็นธรรมคนใช้เบนซินที่เดือดร้อนจากการเลือกปฏิบัติ ขอให้รัฐบาลลดผลกำไรส่วนเกินของผู้ประกอบการลงไปด้วย ไม่ใช่ลดราคาโดยล้วงกระเป๋าประชาชนอยู่ฝ่ายเดียว”น.ส.รสนาระบุ
น.ส.รสนาเสนอว่าราคาเบนซินและดีเซลควรมีช่วงห่างของราคาต่างกันประมาณ 3 บาท/ลิตร การถ่างราคาสูงมองว่าเป็นการรีดเงินคนใช้เบนซินมาชดเชยดีเซล และการแบกกำไรเกินควรของผู้ค้าน้ำมัน ทั้งค่าการกลั่น และค่าการผสมเอทานอลและไบโอดีเซลจึงเสนอว่า
1)ขอให้รัฐบาลกำหนดค่าการกลั่นน้ำมันอยู่ที่ 3บาท/ลิตร
2)รัฐบาลควรยกเลิกการผสมเอทานอลและไบโอดีเซลในน้ำมันพื้นฐาน เมื่อราคาน้ำมันชีวภาพมีราคาสูงกว่าน้ำมันพื้นฐานมาก เพราะยิ่งผสมยิ่งแพง เป็นภาระต่อประชาชน
3)รัฐบาลต้องกำกับให้มีการใช้กองทุนน้ำมันฯเป็นเงินชดเชยเวลาน้ำมันตลาดโลกปรับขึ้นทั้งเบนซินและดีเซลตามที่กฎหมายกองทุนน้ำมันบัญญัติไว้ ไม่ควรเอาเงินสะสมของคนใช้เบนซินไปชดเชยให้เฉพาะน้ำมันดีเซลฝ่ายเดียว
ที่ผ่านมามีการเก็บเงินจากคนใช้เบนซิน95 เข้ากองทุนน้ำมันถึง ลิตรละ 9.38 บาท แก๊สโซฮอล์ 91,95 เก็บลิตรละ2.80 บาทและอี20 อี85 เก็บลิตรละ 81 สต. ซึ่งเป็นเงินสะสมในกองทุนน้ำมันหลายหมื่นล้านบาทแล้ว แต่เงินดังกล่าวเอาไปชดเชยดีเซลเป็นหลัก ส่วนคนใช้เบนซินไม่มีสิทธิใช้เงินที่ตนเองถูกชักเนื้อไปเก็บสะสมไว้แม้แต่สตางค์แดงเดียวเพื่อมาลดราคาน้ำมันเบนซินที่ปรับตัวสูงขึ้นแบบวันเว้นวัน แบบนี้เป็นธรรมต่อคนใช้เบนซินแล้วหรือ
4)ในอดีตสมัยรัฐบาล”ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เมื่อราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงเกิน112 เหรียญ/บาร์เรล หรือ (25บาท/ลิตรขึ้นไป) มีการลดเก็บภาษีสรรพสามิตเหลือแค่ครึ่งสตางค์/ลิตร แต่รัฐบาลปัจจุบันยังเก็บภาษีเบนซิน95 สูงสุดที่6.50บาท/ลิตร แก๊สโซฮอล์95 ลิตรละ 5.85 บาท/ลิตร และดีเซลลิตรละ 5.99 บาท
5)รมว.พลังงานควรกำกับ ควบคุมค่าการตลาดในราคาที่เหมาะสมคือเบนซิน 2บาท/ลิตร ดีเซล 1.50 บาท/ลิตร และสั่งการให้บมจ.ปตท.ร่วมมือในการกำหนดค่าการตลาดที่เหมาะสม
6)รมว.พลังงานควรกำกับให้มีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันจากดีเซล และเบนซินไม่เกิน ลิตรละ 2บาท และเก็บไว้ชดเชยเมื่อราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวสูงเกินราคาขายปลีกหน้าปั๊มที่รัฐบาลควรกำหนดไว้เช่นกัน เช่นน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร น้ำมันเบนซินไม่เกิน 33 บาท/ลิตร
7)ยกเลิกกองทุนอนุรักษ์พลังงาน เพราะไม่มีความจำเป็นอีกแล้ว.-สำนักข่าวไทย