กรุงเทพฯ 26 ก.ค. – “พีระพันธุ์” นำทีมเยือนซาอุดีอาระเบีย ถกความร่วมมือด้านพลังงาน ชวนเข้ามาลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โรงกลั่นน้ำมัน คลังน้ำมัน ท่าเรือ และท่อขนส่งน้ำมัน เสริมสร้าง SPR นำร่องผลิตพลังงานไฮโดรเจน
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ได้เดินทางไปเยือนประเทศซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 15-16 กรกฎาคม 2567 โดยได้หารือกับคณะเจรจาของกระทรวงพลังงานซาอุดีอาระเบีย นำโดย เจ้าชายอับดุลอาซิซ บิน ซัลมาน อัล ซาอุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานซาอุดีอาระเบีย, Saudi Aramco บริษัทน้ำมันชั้นนำระดับโลก, SABIC ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์รายใหญ่ระดับโลก, ACWA Power ผู้ประกอบธุรกิจด้านการผลิตไฟฟ้า และ SEEC หน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการใช้พลังงานของประเทศ เป็นการกระชับความสัมพันธ์และติดตามความคืบหน้าในเรื่องของการทำความตกลง (MOU) 8 ข้อ ระหว่างกระทรวงพลังงานไทยกับกระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบีย ที่ได้มีการลงนามไปเมื่อปี 2565 และยังได้เสนอข้อตกลงร่วมกันข้อที่ 9 ได้แก่ การถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านพลังงาน รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านโครงสร้างพื้นฐานในการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve : SPR) ของไทย ซึ่งทางซาอุฯ ให้การตอบรับ โดยเฉพาะการให้การสนับสนุนด้านวิชาการแก่ “วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ” ที่กำลังเตรียมจัดตั้งขึ้นในประเทศไทย เพื่อช่วยยกระดับองค์ความรู้และบุคคลากรพลังงานที่จะสร้างประโยชน์ต่อประเทศไทยในอนาคตต่อไป
“ได้เชิญชวนให้ซาอุฯ เข้ามาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน โรงกลั่นน้ำมัน คลังน้ำมัน ท่าเรือ และท่อขนส่งน้ำมันในพื้นที่ที่มีศักยภาพของประเทศ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและ SPR ให้กับประเทศไทย และสามารถเป็นจุดกระจายน้ำมันจากประเทศไทยไปยังประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งลงได้ โดยทางซาอุฯ ได้ให้ความสนใจ” นายพีระพันธุ์ กล่าว
นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ซาอุดีอาระเบียได้ให้ความสำคัญอย่างมาก ในเรื่องของพลังงานแห่งอนาคต และกำลังพิจารณาที่จะเข้ามาลงทุนด้านนี้ในประเทศไทย โดยเฉพาะพลังงานไฮโดรเจน ซึ่งเป็นพลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทั้งรถยนต์ในอนาคต รวมถึงเรื่องของพลังงานเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ อีกทั้งสามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้ด้วย ซึ่งเรื่องการลงทุนผลิตพลังงานไฮโดรเจน คาดว่าจะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว เพราะทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของทั้งสองประเทศต่างก็มีเป้าหมายจะพัฒนาและลงทุนในด้านนี้ รวมทั้งซาอุฯ พร้อมที่จะให้คามร่วมมือกับไทยในเรื่องของการผลิตพลังงานสะอาด ผลักดันไปสู่เป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์. -511-สำนักข่าวไทย