กรุงเทพฯ 5 ส.ค. – สมาคมธนาคารไทยจับมือแบงก์ลงนามแนวทางการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ หลัง ธปท.วิตกหนี้ครัวเรือนพุ่งผลจากแบงก์ให้สินเชื่อเกินตัว
นางวจีทิพย์ พงษ์เพ็ชร ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า วันที่ 13 สิงหาคม 2562 จะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างสมาคมธนาคารไทยกับธนาคารพาณิชย์ถึงแนวนโยบายการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ นโยบายการให้สินเชื่อรายย่อยอย่างเหมาะสม เพื่อดูแลปัญหาหนี้เกินตัวของภาคครัวเรือน
เนื่องจาก 10 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์หนี้ครัวเรือนเร่งตัวขึ้นมากคนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น มากขึ้น นานขึ้น โดยหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นกว่า 25% จากปี 2552 อยู่ที่ 53.5% เป็น 78.7% ในปี 2561 เป็นอันดับ 2 ของเอเชีย ส่วนอันดับ 1 เป็นเกาหลีใต้ อยู่ที่ 97.7% ซึ่งคนอายุ 60-69 ปี มีหนี้เฉลี่ย 453,438 บาทต่อราย และ คนอายุ 70-79 ปี มีหนี้เฉลี่ย 287,932 บาทต่อราย
สำหรับนโยบายดังกล่าว ประกอบด้วย 5 ข้อ 1.ปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรที่คำนึงถึงผลกระทบต่อลูกค้า โดยสิ่งที่ควรทำ คือ การกำหนด KPI พนักงานที่ผูกกับเป้าสินเชื่อเป็นหลัก ทำให้พนักงานมีแนวโน้มเสนอผลิตภัณฑ์ โดยไม่ดูถึงความต้องการของลูกค้า 2.การพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับลูกค้า โดยสิ่งที่ไม่ควรทำ คือ การออกแบบผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ผ่อนน้อยช่วงแรก แต่จ่ายก้อนใหญ่ในช่วงท้ายจนเกินความสามารถในการชำระหนี้ 3.การเสนอขายผลิตภัณฑ์ โดยแจ้งรายละเอียดที่ชัดเจน และไม่กระตุ้นการก่อหนี้เกินความจำเป็น 4.การพิจาณาให้สินเชื่อ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้กู้ และยังมีเงินเหลือดำรงชีพได้ และ 5.กำหนดเงื่อนไขในสัญญาที่เป็นธรรมต่อลูกค้าเป็นหนี้เพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น
“หลังการเซ็นเอ็มโอยูอยากเห็นแบงก์มีแผนปฏิบัติทันที และมีการปรับกระบวนการทำงานภายในให้ตอบโจทย์ทั้ง 5 ข้อ โดยอยากเห็นความชัดเจนภายในปี 2563” นางวจีทิพย์ กล่าว
นอกจากนี้ ธปท.ยังจะมีการติดตามภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) โดยเฉพาะสินเชื่อที่ให้กับกลุ่มเปราะบาง ซึ่งต้องการให้สถาบันการเงินติดตามลูกค้าที่มีกลุ่มเสี่ยงรวดเร็วและใกล้ชิดมากกว่ากลุ่มปกติ โดย ธปท.จะเข้าไปติดตามกระบวนการภายในของสถาบันการเงินว่ามีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าคุณภาพหนี้ของสินเชื่อที่ปล่อยใหม่ดีขึ้น และหนี้เสียจะลดลง.-สำนักข่าวไทย