สธ.17ม.ค.-แพทยสภา ระดมความคิดเห็นจากราชวิทยาลัยแพทย์ต่อปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 เตรียมสรุปเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อนำไปแก้ไข โดยปัญหาฝุ่นขณะนี้ ควรมีมาตรการ ทั้งลด ละ เลิก และงด สำหรับประชาชนมากกว่า เพราะหากปล่อยให้เผชิญกับฝุ่นละออง ทั้งพื้นที่ ส้ม แดงนานนับปีเท่ากับคนสูบบุหรี่นานถึง 30 ปี ห่วงเด็กเล็ก อนุบาลและประถมศึกษา
ในเวทีเสวนาแพทยสภาและกระทรวงสาธารณสุข เรื่องฝุ่นละอองPM2.5 กับปัญหาสุขภาพและแนวทางทางแก้ไข นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้แทนราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ต้องเร่งให้ความเข้าใจประชาชน เกี่ยวกับปัญหาฝุ่นละออง และการแสดงสี ค่าการเฝ้าระวัง สีส้มเป็นอันตรายกับผู้ป่วย โรคระบบทางเดินหายใจ หัวใจ หลอดเลือดมากเป็นพิษ ส่วนสีแดง เป็นการแสดงว่าคนทั่วไป ที่ไม่มีโรค ต้องระวัง สีม่วงเป็นการแสดงว่า สถานการณ์เริ่มวิกฤต. หายใจลำบากในทุกกลุ่ม โดยระยะเวลาการเผชิญกับฝุ่นละอองเป็นสิ่งบ่งบอกถึงอันตราย ในส่วนของสีส้มหากประชาชนต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองสีส้มนานเกิน เป็นระยะถึง 1 ปี ก็เท่ากับการสูบบุหรี่ ครึ่งซองเป็นระยะเวลา 30 ปี
นพ.เกียรติ กล่าวว่า หากประชาชนอยู่ในพื้นที่วิกฤตสีแดงทุกวัน ก็เท่ากับการสูบบุหรี่ 1 ซอง เป็นเวลา 30 ปี ฉะนั้น ต้องทำความเข้าใจเรื่องสีการแสดงค่าฝุ่นละออง และควรลดกิจกรรมกลางแจ้ง และระยะเวลาที่อยู่ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองสูง โดยการอยู่ในพื้นที่วิกฤตสีแดง ไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมง และการเรียนรู้สภาพอากาศจากสี ทำให้มีการเตรียมตัว รับมือ โดยกลุ่มคนที่น่าเป็นห่วงนอกจาก ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินทางหายใจ หัวใจ หอบหืดแล้วยังมีกลุ่มคนที่ประกอบอาชีพต้องอยู่ริมถนนและได้รับผล กระทบ เช่น แม่ค้า ตำรวจจราจร และคนขับรถโดยสารประจำทางแบบ ไม่ปรับอากาศ ซึ่งเหล่านี้ ควรสวมหน้ากากอนามัย N 95
นพ. เกียรติ กล่าวต่อไปว่า ดังนั้นประชาชนต้องลดระยะเวลาการอยู่นอกอาคาร โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดง สีส้ม ในระยะสั้นไม่ห่วงเพราะอากาศที่อับเป็นช่วงเวลาระยะหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ควรมีมาตราการมุ่งเน้น ในการลดฝุ่นละอองในระยะยาวด้วยเพราะหากต้องอยู่ท่ามกลางฝุ่นละอองยาวนาน ย่อมมีผลกับสุขภาพ โดยผลกระทบการวิกฤตค่าฝุ่นละออง ในประเทศญี่ปุ่น ในกลุ่มเป็น อนุบาล อายุต่ำกว่า 5 ปี พบว่า การได้รับฝุ่นละอองเป็นเวลานานเสี่ยงทำให้ปอดอักเสบติดเชื้อ ดังนั้น หากสถานการณ์ของไทยไม่ดีขึ้น ควรมีการเลื่อน ปรับ เปลี่ยน การเปิดเรียนในเด็ก อนุบาล และประถมศึกษา
นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ อุปนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การสวมใส่หน้ากากอนามัย N 95 มีความจำเป็นในกลุ่มเสี่ยง โรคระบบทางเดินหายใจ หัวใจ หลอดเลือด เพราะฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้ ขนจมูกไม่สามารถกรองดักได้ แต่ในคนทั่วไปหากไม่ได้ไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือสัมผัสฝุ่นละอองไม่นาน สามารถใช้ผ้าเช็ดหน้า ปิดจมูกได้ หรือสวมหน้ากากอนามัยธรรมดา แต่ต้องปิดรูรั่วให้ดี อาจใช้หน้ากากอนามัยซ้อนกัน 2 ชั้นหรือหน้ากากอนามัย รวมกับกระดาษทิชชูได้ แต่การใช้ผ้าชุบน้ำ ไม่ช่วยกรองฝุ่น ทางสมาคมอุรเวชช์ฯ จึงเสนอให้ควรมีมาตรฐานลด ละ เลื่อน เลิก และคำเตือนสำหรับประชาชนทั่วไป ทั้งการทำกิจกรรม การทำงาน การเข้าเรียน
นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าหน่วยวิทยาศาสตร์สุขภาพ โรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประชาชน ควรมีความตระหนักถึงปัญหาฝุ่น งดทำกิจกรรม และไม่เปิดหน้าต่าง ไม่รับฝุ่นเข้าบ้าน เพราะปัญหาฝุ่น ส่งผลในระยะยาวต่อสุขภาพ ทั้ง มะเร็งปอด และอัลไซเมอร์ แน่นอน
นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา นายกแพทยสภา กล่าวว่า จากนี้แพทยสภาจะเร่งรวบรวมข้อมูลจากราชวิทยาลัย เสนอผู้มีอำนาจ รัฐบาล ให้ตระหนัก และแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง คาดว่าภายใน 1 สัปดาห์จะแล้วเสร็จ เพราะเรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อประชาชน ขณะเดียวกันเห็นว่า ควรมีการปรับโครงสร้างและผังเมือง ให้มีกลุ่มต้นไม้ที่สามารถดูดซับฝุ่นได้ เช่น ไม้ไทยโบราณ อย่างตะขบ เพราะตัวใบมีขนขนาดเล็ก ช่วยกรองฝุ่นได้. .-สำนักข่าวไทย