เชียงใหม่ 31 มี.ค.- เชียงใหม่ยังไม่พ้นวิกฤติ หมอกควันปกคลุมหนาแน่น มองจากบนดอยสุเทพลงมาไม่เห็นอาคารบ้านเรือน ส่วนตัวเมืองเชียงใหม่ ค่ามลพิษสูง เช้านี้พบจุดความร้อน มากถึง 90 จุด กระจายใน 17 อำเภอ
สภาพท้องฟ้าตัวเมืองเชียงใหม่ ยังถูกปกคลุมไปด้วยหมอกควันไฟป่า มองจากจุดชมวิวบนดอยสุเทพ มีแต่ม่านหมอก ทัศนวิสัยไม่ดี จนมองไม่เห็นอาคารบ้านเรือนประชาชน แสบตา ได้กลิ่นควันชัดเจน เช้าวันนี้ (31 มี.ค.) พบจุดความร้อนมากถึง 90 จุด กระจายใน 17 อำเภอ มากที่สุด อำเภอเชียงดาว 16 จุด อำเภอฮอด 11 จุด อำเภออมก๋อย 10 จุด ขณะที่บางอำเภอไฟป่าลุกลาม เข้าไปถึงป่าช้า สถานที่ฝังศพ ต้องระดมกำลังจิตอาสาเข้าดับไฟ เพื่อไม่ให้ถึงหลุมฝังศพ ทำให้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 29 มีนาคม 2567 มีไฟป่าเกิดขึ้นสะสมจำนวน 4127 ครั้ง และค่ามลพิษเกินมาจำนวน 48 วัน
ศูนย์ข้อมูลเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รายงานคุณภาพอากาศแบบรายชั่วโมง พื้นที่บ้านอรุโณทัย อำเภอเชียงดาวค่า PM2.5 เช้าวันนี้ เวลา 08.00 น. อยู่ที่ 460 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร บ้านหัวโท อำเภอเชียงดาว PM2.5 อยู่ที่ 454 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ชุมชนหมื่นสาร อำเภอเมือง PM2.5 อยู่ที่ 206 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์ ส่วนย่านไนท์บาร์ซ่า อำเภอเมือง PM2.5 อยู่ที่ 160 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มีผลกระทบต่อสุขภาพ เช้าวันนี้ เวลา 08.00 น. เว็บไซต์ไอคิวแอร์ยังจัดอันดับให้เชียงใหม่มีคุณภาพอากาศแย่อันดับ 2 ของโลก
งานถนนคนเดินวัวลาย เชียงใหม่ วันเสาร์ นักท่องเที่ยวยังคึกคัก ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ที่มาเดินจับจ่ายซื้ออาหารและสินค้า ส่วนนักท่องเที่ยวคนไทย บางตา ถนนโล่งเป็นช่วงๆ
นางรัตนา แม่ค้าที่ถนนคนเดินวัวลาย บอกว่า ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 นักท่องเที่ยวยังเยอะ พอมีหมอกควันไฟป่าปกคุมทั่วตัวเมือง ทำให้นักท่องเที่ยวเดือนมีนาคมหายไป โดยเฉพาะคนไทย จากต่างจังหวัดน้อยลง มีแต่ชาวต่างชาติ ส่วนใหญ่จะไม่สวมหน้ากากป้องกัน โดยตนเองเวลามาขายสินค้า ต้องอยู่กลางแจ้ง ตั้งแต่ 4 โมงเย็น ไปจนถึง 5 ทุ่ม หรือเป็นเวลานานเกือบ 7 ชั่วโมง ต้องสวมหน้ากากชนิด N95 ป้องกัน หากไม่สวมแมสก์ ภายใน 1 ชั่วโมง จะรู้สึกคอแห้ง บางครั้งน้ำมูกไหล และที่สำคัญแสบตา กลับบ้านต้องหยอดน้ำตาเทียมตลอด อยู่ในบ้านถึงจะถอดหน้ากาก หากออกนอกบ้าน ต้องสวมหน้ากากทันที ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยว มาเดินเยอะ ขายของดีมาก แต่พอมาเดือนนี้ นักท่องเที่ยวหายไปเยอะ .-สำนักข่าวไทย