ก.เกษตรฯ 31 พ.ค. – ก.เกษตรฯ ยืนยันปีนี้สถานการณ์น้ำดี น้ำที่เก็บกักในเขื่อนต่าง ๆ มีพอเลี้ยงทุกภาคส่วน ขณะเดียวกันกำชับสำนักชลประทานทั่วประเทศเตรียมพร้อมรับภาวะน้ำหลากช่วงปลายฤดูที่ฝนจะตกชุกที่สุด
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบนโยบายการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนแก่สำนักชลประทานทั่วประเทศผ่านระบบประชุมทางไกล โดยระบุว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนหลักทั่วประเทศรวมถึง 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยามีเฉลี่ยร้อยละ 60 ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 412 อ่าง มีปริมาณน้ำร้อยละ 70 ซึ่งขอให้สำนักชลประทานต่าง ๆ จัดสรรให้เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค การเกษตร การประกอบอุตสาหกรรม และการรักษาระบบนิเวศน์ ซึ่งเพียงพอใช้ตลอดถึงเดือนกรกฎาคม แม้บางช่วงจะฝนตกน้อยหรือฝนทิ้งช่วงก็ตาม
จากการทำแบบจำลองสภาพอากาศของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะโดยผนวกการเกิดพายุในเดือนสิงหาคมซึ่งโดยเฉลี่ยจะเกิดปีละ 1 ลูก พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากหรือน้ำล้นตลิ่ง ได้แก่ เชียงใหม่ แพร่ น่าน สุโขทัย อุตรดิตถ์ ลำปาง เพชรบูรณ์ อุบลราชธานี หนองคาย เลย พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ ซึ่งให้สำนักชลประทานทั่วประเทศเตรียมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เครื่องมือ และวิธีการที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าปริมาณฝนปีนี้จะต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยร้อยละ 8 ภาวะน้ำหลากและน้ำล้นตลิ่งจะส่งผลกระทบน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 412 อ่าง ได้สั่งการให้รักษาปริมาณเก็บกักไม่ให้เกินร้อยละ 80 ของความจุอ่าง ซึ่งขณะนี้ยังมี 43 อ่างที่มีปริมาณเกินและทยอยระบายออก ในปีนี้ได้กำชับให้ระบายน้ำเข้าสู่ระบบชลประทาน จึงทำให้พื้นที่ดอนปกติต้องรอฝนหลายแห่งมีน้ำปลูกข้าวแล้ว
ส่วนเขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อน (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 12,979 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 52 (ปริมาณน้ำใช้การได้ 6,283 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 35) ปริมาณน้ำใช้การได้เทียบกับปี 2560 ปีนี้มีปริมาณน้ำมากกว่า 2,039 ล้าน ลบ.ม.
ด้านการเพาะปลูกพืชฤดูฝนทั่วประเทศ ปัจจุบันมีการเพาะปลูกแล้ว 4.33 ล้านไร่ (แผน 16.47 ล้านไร่) หรือคิดเป็นร้อยละ 26 ของแผนการเพาะปลูกพืชฤดูฝนทั้งประเทศ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกพืชไปแล้ว 3.05 ล้านไร่ (แผน 7.73 ล้านไร่) หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของแผนการเพาะปลูกพืชฤดูฝนลุ่มน้ำเจ้าพระยา สำหรับการทำนาปีในพื้นที่ลุ่มต่ำทั้ง 13 ทุ่งนั้น ปัจจุบันทุ่งบางระกำมีการเพาะปลูกเต็มพื้นที่แล้วส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งเจ้าพระยาตอนล่าง มีการเพาะปลูกไปแล้ว 0.707 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 62 ของพื้นที่เป้าหมายที่ วางไว้ 1.15 ล้านไร่
ในส่วนของพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้มีการเลื่อนเวลาการเพาะปลูกข้าวนาปีให้เร็วขึ้น เพื่อใช้พื้นที่การเกษตรเหล่านั้นเป็นพื้นที่รับน้ำหลาก หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จแล้ว ได้แก่ พื้นที่ตอนบนตั้งแต่นครสวรรค์ขึ้นไป คือพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ ในปีนี้มีการปรับเพิ่มพื้นที่มากขึ้น จากเดิมปีที่แล้วมีพื้นที่ 265,000 ไร่ เพิ่มเป็น 382,000 ไร่ รับน้ำได้มากขึ้นจากเดิม 400 เป็น 550 ล้าน ลบ.ม. ได้ส่งน้ำให้เกษตรกรทำนาปีแล้วตั้งแต่ 1 เมษายน 2561 เพื่อให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตภายในเดือนกรกฎาคม ส่วนพื้นที่ตอนล่างตั้งแต่นครสวรรค์ลงมา พื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่ง ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ได้แก่ ทุ่งเชียงราก ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งบางบาล โครงการ ส่งน้ำและบำรุงรักษาโพธิ์พระยา โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระยาบรรลือ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ พื้นที่รวมกว่า 1.15 ล้านไร่ รับน้ำได้ 1,500 ล้าน ลบ.ม. ได้มีการส่งน้ำให้เกษตรกรเริ่มทำนาปี ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2561 เพื่อให้เก็บเกี่ยวผลผลิตให้แล้วเสร็จภายในต้นเดือนกันยายน เพื่อจะใช้พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำในช่วงปลายเดือนกันยายนถึงตุลาคมลผลกระทบภาวะน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำในทุ่งป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ทุ่งผักไห่ บางบาล เจ้าเจ็ด จังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งมั่นใจว่า ระดับน้ำจะต่ำกว่าปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ยังเตรียมพร้อมเครื่องจักร-เครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ 1,851 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 317 ชุด รถแทรกเตอร์/รถตัก 225 คัน และเครื่องจักรกลสนับสนุนอื่นๆ อีก 410 หน่วย ซึ่งกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ในเขตสำนักงานชลประทานต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 2,803 หน่วย.-สำนักข่าวไทย