ขอนแก่น 9 ม.ค. – กลุ่มคนยากจนที่ขอนแก่น ดีใจที่รัฐบาลให้ความสำคัญ แต่ยังไม่มั่นใจว่าจะสามารถยกระดับความเป็นอยู่จนพ้นเส้นความยากจนได้ภายในปีนี้หรือไม่ ขณะที่นักวิชาการมหาวิทยาลัยขอนแก่น แนะรัฐบาลใช้วิธีแก้ปัญหาที่หลากหลายตามความแตกต่างของแต่ละพื้นที่ และไม่อยากให้กำหนดกรอบเวลาตัดสินสั้นเกินไป เพราะจะกดดันข้าราชการจนได้ข้อมูลไม่ตรงกับข้อเท็จจริง
ภาคอีสานได้ชื่อว่า “ยากจนที่สุดในประเทศ” เป็นปัญหาเรื้อรังที่ท้าทายรัฐบาลมาทุกยุคสมัย ข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่า ครัวเรือนเกษตรกรในอีสานยากจนสูงสุดเกือบร้อยละ 42 เมื่อรัฐบาล คสช. ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศจะนำประชาชนกว่า 5 ล้านคนที่มีรายได้ทั้งปีต่ำกว่า 30,000 บาท พ้นเส้นความยากจนภายในปีนี้ ทำให้คนยากจนมีความหวังว่า จะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ที่นี่คือชุมชนหนองวัด 2 ชุมชนแออัดริมทางรถไฟในเขตเทศบาลนครขอนแก่น ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง โดยเฉพาะการรับจ้างปอกกระเทียม กิโลกรัมละ 5 บาท วันละ 10-20 กิโลกรัม หรือ 50-100 บาท ยายด่าง แสงหิม วัย 72 ปี เพิ่งเสียคู่ชีวิตได้ไม่ถึงปี ขาดเสาหลักของครอบครัว ลูก 2 คนก็มีครอบครัวของตัวเอง ช่วยแม่ได้ไม่มากนัก ยายด่างจึงนั่งปอกกระเทียมเพื่อเลี้ยงตัวเองทุกวันจนนิ้วเป็นแผล แต่ก็หยุดไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะไม่มีกิน ยอมรับว่าบัตรคนยากจนเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระได้มาก แต่การแก้ปัญหาถึงขั้นพ้นความยากจน ตนยังไม่มั่นใจนักว่าจะแก้ไขได้ในเวลาอันรวดเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่มีข้อจำกัดมาก
ตาจำลอง บุญมาก เป็นอีกคนที่ความยากจนยังบีบให้ต้องดิ้นรนในวัย 84 ปี ปีที่แล้วยังมีแรงปั่นสามล้อรับจ้างได้ มาปีนี้เรี่ยวแรงถดถอยลงไปอีก จึงได้แต่ใช้พาหนะคู่ใจตั้งแต่วัยรุ่นปั่นหาเก็บขยะขาย ตาจำลองมั่นใจในหน่วยงานราชการ จึงไม่มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม
ขณะที่คนไร้บ้านกลุ่มนี้อยากให้รัฐบาลช่วยจัดสรรที่อยู่ ที่ทำกิน ช่องทางประกอบอาชีพที่เหมาะสม พวกเขามั่นใจว่าหากรัฐบาลเอาจริงจะสามารถแก้ปัญหาได้
ด้านประธานโครงการ มข.แก้จน เสนอแนะว่าควรใช้เครื่องมือที่หลากหลาย เพราะสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม พึ่งตนเองได้ ไม่เอาแต่รอความช่วยเหลือ และไม่ควรกำหนดเป้าสั้นเกินไป เพราะจะเป็นการกดดันราชการ ซึ่งอาจนำมาสู่การได้ข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริง
โครงการแก้ไขปัญหาความยากจนตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยขอนแก่นนำร่องในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ราว 2,000 ครัวเรือน ใน 62 หมู่บ้าน เริ่มเห็นผลในปีที่ 3 ปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 5 ทุกครัวเรือนในพื้นที่นำร่องพ้นเส้นความยากจน ประธานโครงการ มข.แก้จน ระบุว่า สถาบันการศึกษาในทุกภูมิภาคมีองค์ความรู้มาก เป็นอีกหนึ่งกลไลที่พร้อมสนับสนุนรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาความยากจน . – สำนักข่าวไทย