ปักกิ่ง, 24 ม.ค. — บทความการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารเนเจอร์ (Nature) วันพฤหัสบดีระบุว่า ทีมวิจัยนานาชาติที่นำโดยนักวิทยาศาสตร์ของจีน ค้นพบคลื่นคอรัส (chorus waves) ที่อยู่ห่างจากโลกมากกว่า 1.6 แสนกิโลเมตร ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางอวกาศที่เคยเชื่อว่าเกิดขึ้นเฉพาะใกล้กับบริเวณสนามแม่เหล็กขั้วคู่ของโลก
สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า หลิว เฉิงหมิง ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเป่ยหาง ระบุว่าเราสังเกตเห็นคลื่นคอรัสย่านความถี่ต่ำกว่า 100 เฮิรตซ์ และเมื่อแปลงคลื่นคอรัสเหล่านี้ออกมาเป็นเสียง เราได้ยิน “เสียงจากในอวกาศ” ที่คล้ายคลึงกับเสียงนกร้อง
สนามแม่เหล็กของโลกแผ่ขยายออกไปสู่อวกาศ เมื่ออนุภาคที่มีประจุในจักรวาลผ่านสนามแม่เหล็ก พวกมันสามารถกระตุ้นคลื่นคอรัส หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีลักษณะความถี่คล้ายเสียงนกร้องยามเช้า
คลื่นคอรัสได้รับความสนใจในแวดวงการวิจัยฟิสิกส์อวกาศ เนื่องจากเป็นหนึ่งในความผันผวนของแม่เหล็กไฟฟ้าที่รุนแรงที่สุดในอวกาศ โดยก่อนหน้านี้มีความเชื่ออย่างแพร่หลายว่าคลื่นชนิดนี้เกิดขึ้นใกล้กับบริเวณสนามแม่เหล็กขั้วคู่ของโลกเท่านั้น
ทีมงานซึ่งประกอบด้วยนักวิจัยจากจีน สหรัฐฯ และสวีเดน วิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลที่รวบรวมโดยภารกิจสนามแม่เหล็กโลกหลายระดับ (Magnetospheric Multiscale Mission) ซึ่งเป็นภารกิจสำรวจพื้นที่ระหว่างดวงอาทิตย์และโลก โดยพวกเขาค้นพบคลื่นคอรัสที่อยู่ห่างจากโลกมากกว่า 1.6 แสนกิโลเมตร และให้คำอธิบายทางทฤษฎีว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างคลื่นและอนุภาคแบบไม่เชิงเส้นเป็นต้นตอของปรากฏการณ์ดังกล่าว
คลื่นคอรัสมีบทบาทสำคัญในการทำความเข้าใจคำถามพื้นฐานในอวกาศและมีผลกระทบเชิงปฏิบัติที่กว้างขวาง โดยเป็นกุญแจสำคัญในการเร่งอิเล็กตรอนพลังงานสูงในแถบรังสีของโลก และการสร้างแสงเหนือกระพริบในบริเวณขั้วโลก อีกทั้งสามารถส่งอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในอวกาศ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อการดำเนินงานอย่างเสถียรของยานอวกาศและสุขภาพของนักบินอวกาศ
การศึกษาทิ้งท้ายว่าผลการค้นพบเหล่านี้ให้การสนับสนุนทางทฤษฎีที่สำคัญสำหรับการจำลองและการพยากรณ์สภาพอากาศในอวกาศอย่างแม่นยำ.-813.-สำนักข่าวไทย