สำนักข่าวไทย19ก.ย.-วันพรุ่งนี้ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เตรียมแถลงข่าว ‘ค้นพบแมงมุมฝาปิดโบราณชนิดใหม่ของโลก’ ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ถือเป็นหนึ่งในซากดึกดำบรรพ์มีชีวิตและหนึ่งในกลุ่มแมงมุมหายากที่สุดในโลก
ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกีฏวิทยา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แจ้งว่า ในวันพรุ่งนี้(20 ก.ย.) ทางศูนย์ฯ กำหนดจัดแถลงข่าวเรื่องการค้นพบแมงมุมฝาปิดโบราณชนิดใหม่ของโลกในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ณ ห้องประชุมคณะวิทยาศาสตร์ อาคารเคมี 2 คณะวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ข้อมูลทางชีววิทยาของแมงมุมฝาปิดโบราณชนิดใหม่ของโลกที่ค้นพบในผืนป่าแม่วงก์
สำหรับแมงมุมฝาปิดโบราณ ถือว่าเป็นหนึ่งในซากดึกดำบรรพ์มีชีวิตและเป็นหนึ่งในกลุ่มของแมงมุมที่หายากที่สุดในโลก ในปัจจุบันมีการค้นพบแล้วเพียง 96 ชนิด (จากแมงมุมมากกว่า46,000 ชนิดที่ได้รับการค้นพบแล้ว)โดยพบอาศัยอยู่เฉพาะในบริเวณด้านตะวันออกของประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีรายงานการค้นพบแมงมุมในกลุ่มนี้มากที่สุด โดยมีรายงานการค้นพบแล้วทั้งสิ้น 32 ชนิด
อย่างไรก็ตามแมงมุมชนิดนี้จัดเป็นสัตว์ที่มีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ และยังไม่มีแนวทางในการอนุรักษ์อย่างชัดเจน โดยแต่ละชนิดมักพบได้ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความจำเพาะต่อแหล่งอาศัยที่จำกัด
ทั้งนี้ ในปัจจุบันการศึกษาเกี่ยวกับแมงมุมฝาปิดโบราณยังมีอยู่น้อย ทำให้ยังไม่เป็นที่รู้จัก และไม่มีข้อมูลสำหรับการวางแผนอนุรักษ์ นับเป็นข่าวดี ที่นักวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ค้นพบแมงมุมฝาปิดโบราณชนิดใหม่ของโลกในผืนป่าแม่วงก์ ซึ่งถือเป็นผืนป่าที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของไทย .-สำนักข่าวไทย