fbpx

“พริษฐ์” ลงพื้นที่หนองคาย ชี้ 3 โจทย์ใหญ่ฟื้นฟูเยียวยาหลังน้ำลด

พริษฐ์ช่วยน้ำท่วม

หนองคาย 22 ก.ย. – “พริษฐ์” ลงพื้นที่หนองคาย ชี้ 3 โจทย์ใหญ่ฟื้นฟูเยียวยาหลังน้ำลด ต้องส่งเงินเยียวยาให้ถึงมือประชาชนโดยเร็วและเป็นธรรม อัดฉีดเงินให้ท้องถิ่นเร่งฟื้นฟูเมือง พร้อมดูแลสุขภาพจิตผู้ประสบภัยไม่ให้เผชิญกับความเครียด-กังวลโดยลำพัง


นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน พร้อมด้วยทีมงานของพรรค ลงพื้นที่จังหวัดหนองคาย ติดตามสถานการณ์และรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับน้ำท่วม โดยในช่วงเช้าได้ลงพื้นที่ไปรับฟังปัญหาประชาชนผู้ประสบภัยในอำเภอท่าบ่อ ก่อนจะไปร่วมทำความสะอาดฟื้นฟูโรงเรียนและรับฟังข้อเสนอจากประชาชนและอาสาสมัครในพื้นที่อำเภอศรีเชียงใหม่

พริษฐ์ กล่าวว่า ถึงแม้หนองคายจะอยู่ในสภาวะน้ำลดแล้ว แต่เหตุการณ์น้ำท่วมในช่วงวันที่ 15-21 กันยายน สร้างความเสียหายต่อพื้นที่รวมกัน 6 อำเภอ โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติมาตรการฟื้นฟูเยียวยาไปแล้วบางส่วน รวมงบประมาณ 3,045 ล้านบาท ซึ่งตนมองว่า การฟื้นฟูเยียวยาอาจแบ่งออกเป็นโจทย์หลัก 3 ข้อด้วยกัน


ข้อแรกคือ “การฟื้นฟูทางการเงิน” ซึ่งโจทย์เร่งด่วนที่สุดคือต้องทำให้เงินเยียวยาถึงมือประชาชนโดยเร็ว เพราะเงินเยียวยาไม่ได้สำคัญเฉพาะในมิติของการ “ชดเชยค่าเสียหาย” ที่ได้เกิดขึ้นไปแล้ว แต่ยังมีความสำคัญในการช่วยประชาชนให้ “ลุกกลับมาตั้งหลัก” และเริ่มหารายได้ได้อีกครั้งหนึ่ง

พริษฐ์ กล่าวว่า ในระหว่างการลงพื้นที่ ได้พบกับประชาชนที่ทำอาหารที่บ้านเพื่อขายผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งระหว่างนี้จะยังไม่มีรายได้จนกว่าจะซ่อมแซมบ้านเสร็จและซื้ออุปกรณ์เข้ามาใหม่ รวมถึงได้พบกับประชาชนที่ทำสวน ซึ่งก็จะยังกลับมาปลูกใหม่ไม่ได้ หากน้ำที่ขังอยู่จำนวนมากยังไม่มีคนมาช่วยสูบออก สำหรับคนกลุ่มนี้ ทุกวันที่ผ่านไปโดยไม่ได้รับการเยียวยาจึงเป็นอีกหนึ่งวันที่พวกเขายังกลับมาทำมาหากินแบบเดิมไม่ได้

ถึงแม้ ครม. จะอนุมัติเงินเยียวยาตั้งต้น 5,000-9,000 บาทต่อครัวเรือน ไปแล้ว รวมถึงเงินเยียวยา 230,000 บาท ในกรณีที่บ้านเสียหายมากกว่า 70% ขึ้นไป แต่ประชาชนหลายคนที่ตนไปคุยด้วยยังไม่ทราบข้อมูลว่าต้องดำเนินการต่ออย่างไร และบางพื้นที่ยังไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่เดินทางมาให้คำแนะนำ
.
ด้วยเหตุนี้ จึงมีข้อเสนอรัฐบาล ดังนี้ 1.พิจารณาใช้วิธีส่งเงินเยียวยาให้ถึงมือประชาชนโดยเร็วที่สุด สำหรับเงินเยียวยาตั้งต้น 5,000-9,000 บาทต่อครัวเรือน รัฐบาลควรใช้ภาพถ่ายดาวเทียมจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) มาซ้อนทับกับข้อมูลพิกัดที่อยู่บนแผนที่โลก (Geocoding) เพื่อให้เงินชดเชยผู้ประสบภัยโดยอัตโนมัติผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐได้เลยทันที เพื่อลดขั้นตอนและภาระทางเอกสารที่ยุ่งยากเกินไป ส่วนเงินซ่อมแซมบ้าน รัฐบาลควรให้เงินซ่อมแซมบางส่วน (เช่น 10,000 บาท) ทันทีสำหรับบ้านทุกหลังที่ประสบภัย จากนั้นเมื่อสำรวจและประเมินความเสียหายเสร็จสิ้นก็ค่อยจ่ายส่วนต่างที่เหลือตามมาตามสภาพจริง
2.เพิ่มงบประมาณให้ท้องถิ่นใช้ในการออกนโยบายฟื้นฟูเยียวยาประชาชนในพื้นที่ตนเองเพิ่มเติมอย่างเต็มที่มากขึ้น เนื่องจากกลไกเยียวยาของท้องถิ่นมีแนวโน้มที่จะรวดเร็วกว่า และมีรายละเอียดที่คำนึงถึงปัจจัยเฉพาะรายพื้นที่ได้มากกว่า
3.เพิ่มและเจรจากลไกในการให้สินเชื่อดอกเบี้ย 0% กับประชาชนผู้ประสบภัย เพื่อนำมาใช้ในการฟื้นฟูกิจการหรือซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพของตนเองโดยเร็ว
4.เร่งประชาสัมพันธ์สิทธิประโยชน์และขั้นตอนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้กับผู้ประสบภัย
5.พิจารณาถ่ายโอนอำนาจในการประกาศเขตภัยพิบัติและการบริหารจัดการงบประมาณที่เกี่ยวข้องให้แก่ท้องถิ่นในอนาคค เพื่อให้สามารถใช้เงินได้อย่างทันท่วงทีมากขึ้น โดยหากมีความกังวลว่าจะมีการประกาศเขตภัยพิบัติที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ก็ให้มีกลไกที่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะทำเรื่องเสนอให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พิจารณาทบทวน ยืนยัน หรือยับยั้งการประกาศเขตภัยพิบัติที่ท้องถิ่นประกาศไปแล้วได้


พริษฐ์กล่าวต่อว่า นอกจากการทำให้เงินถึงมือผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็วแล้ว รัฐบาลยังต้องกำหนดเงินชดเชยเยียวยาให้เป็นธรรมกับทุกกรณีด้วย โดยตัวอย่างหนึ่งที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบคือ มาตรการเงินเยียวยาตั้งต้นของรัฐบาลซึ่งมีระดับไม่เท่ากันสำหรับแต่ละกรณี (5,000 / 7,000 / 9,000 บาท) ถึงแม้ระยะเวลาที่ถูกน้ำท่วมขัง จะถูกใช้เป็นเกณฑ์หลักในการกำหนดระดับเงินเยียวยา แต่ความรุนแรงของความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้สัมพันธ์กับระยะเวลาเพียงอย่างเดียว แต่อาจเกี่ยวข้องลักษณะของการเกิดอุทกภัยด้วย เช่น หากเป็นน้ำป่าไหลหลากและมีโคลนหรือหน้าดินไหลลงมาด้วย ความเสียหายก็จะสูง แม้ว่าระยะเวลาที่น้ำท่วมขังจะไม่ถึง 7 วัน หรือบางกรณีน้ำอาจท่วมไม่ถึงหนึ่งวันด้วยซ้ำแต่เกิดความเสียหายสูงมาก ก็จะได้รับความช่วยเหลือเพียงขั้นต่ำสุดเท่านั้น

ดังนี้ รัฐบาลควรพิจารณาเสริมเกณฑ์ในการกำหนดระดับการเยียวยาที่คำนึงถึงหลายปัจจัยมากขึ้น โดยดึงท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่สุด รวมถึงควรทบทวนเกณฑ์ในการกำหนดเงินเยียวยาพื้นที่เกษตรกรรมให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เสียหายจริงด้วย

โจทย์หลักข้อที่สองคือ “การฟื้นฟูเมือง” โดยพริษฐ์ กล่าวว่า ถึงแม้พื้นที่เมืองหนองคายจะไม่ได้รับความเสียหายมากเท่ากับพื้นที่อื่นๆ (เช่น เชียงราย) แต่สถานที่ให้บริการหลายส่วนที่ได้รับความเสียหาย เช่น โรงเรียน หรือศูนย์เด็กเล็ก อาจต้องยุติการให้บริการ ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนชุมชนบ้านหม้อที่ตนไปร่วมทำความสะอาด อาจต้องปิดทำการรวมกัน 2-3 สัปดาห์ ถึงแม้จะเปิดกลับมาได้ แต่ก็มีอาคารเรียนบางส่วนที่ชำรุดและต้องเร่งซ่อมแซมเพื่อป้องกันอุบัติเหตุกับนักเรียน

จึงมีข้อเสนอว่า รัฐบาลควรเพิ่มงบประมาณให้ท้องถิ่นและ/หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อซ่อมแซมบริการสาธารณะต่างๆ เช่น ถนน ไฟส่องสว่าง โรงเรียน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) รวมถึงออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจในพื้นที่ เช่น กระตุ้นการท่องเที่ยวผ่านการลดหย่อนภาษีสำหรับ “เมืองน้ำลด” ในลักษณะคล้ายกับที่เคยใช้กระตุ้นการท่องเที่ยว “เมืองรอง”

ส่วนโจทย์หลักข้อที่สามคือ “การฟื้นฟูสุขภาพจิต” พริษฐ์ กล่าวว่า รายงานการศึกษาจากหลายประเทศชี้ชัดว่าคนที่ประสบภัยพิบัติต่างๆ มีแนวโน้มจะเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรงกว่าประชาชนทั่วไป เช่น ภาวะป่วยทางใจหลังประสบภัยในชีวิต (PTSD) ภาวะวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า ถึงแม้ความเครียดและความกังวลบางส่วนอาจมีความสัมพันธ์กับปัญหาทางการเงินและความสูญเสียที่เกิดขึ้น แต่การเฝ้าดู คัดกรอง และดูแลรักษาความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตของผู้ประสบภัยทุกคนเป็นภารกิจที่ไม่ควรถูกละเลย

จึงมีข้อเสนอว่า รัฐบาลควรพัฒนาทักษะและสนับสนุนเครื่องมือให้ประชาชนเป็น “แนวหน้าสุขภาพจิต” ที่มีความรู้พื้นฐานในการสังเกตอาการของคนรอบข้างด้านสุขภาพจิต มีทักษะขั้นพื้นฐานด้านสุขภาพจิต เช่น การรับฟัง การสร้างกำลังใจ และการให้คำปรึกษา และเข้าถึงเครื่องมือประเมินความเสี่ยงพื้นฐานที่นำไปใช้งานต่อได้ นอกจากนี้ยังควรสนับสนุนงบประมาณและบุคลากรให้เพียงพอสำหรับสายด่วนสุขภาพจิต หรือช่องทางอื่นในการได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตด้วย – 312 สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

โปรดเกล้าฯ “พล.อ.พนา” เป็น ผบ.ทบ. “พล.ร.อ.จิรพล” ผบ.ทร.

โปรดเกล้าฯ นายทหาร 808 ตำแหน่ง “พล.อ.พนา” นั่ง ผบ.ทบ. “พล.ร.อ.จิรพล” เป็น ผบ.ทร.คนใหม่ ขณะที่ “พล.อ.อุกฤษฎ์-พล.อ.ธราพงษ์” รอคิวเป็น ผบ.ทสส.-ปลัดกลาโหม ปี 68

หนุ่มง้ออดีตภรรยาไม่สำเร็จ ยิงยกครัวดับ 4 ศพ

สลด เจ้าของรีสอร์ต ง้อขอคืนดีอดีตภรรยาไม่สำเร็จ ใช้อาวุธปืนยิงอดีตภรรยา แม่ยาย น้องเมีย ก่อนยิงตัวเอง ต่อหน้าลูกสาววัย 1 ขวบ 8 เดือน

น้ำป่าหลากท่วมชัยภูมิ ถนน 2 อำเภอ ถูกตัดขาด

พายุพัดถล่มชัยภูมิ น้ำป่าหลากจากเทือกเขาพังเหย ทะลักท่วมถนน 2 อำเภอถูกตัดขาด ส่วน จ.พังงา ประกาศเขตพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉินดินสไลด์หมู่บ้านริมคลองถนนใหม่

ข่าวแนะนำ

บิ๊กแจ๊สชนะเลือกตั้ง

“บิ๊กแจ๊ส” แถลงขอบคุณทุกคะแนนที่ชนะขาด ลั่นพร้อมทำงานทันที

“บิ๊กแจ๊ส” ขอบคุณทุกคะแนนเสียงที่ชนะขาด ฝากคิดคะแนนน้อยกว่าครั้งก่อน แต่ชนะทิ้งห่างกว่า 60,000 คะแนน

ไฟไหม้โรงงานมาบตาพุด

ไฟไหม้ในนิคมฯ มาบตาพุด จากการรั่วไหลของสารตั้งต้น

กนอ. แจงเหตุเพลิงไหม้โรงงานในนิคมฯ มาบตาพุด จากการรั่วไหลของสารตั้งต้นในกระบวนการผลิตพีวีซี ควบคุมเพลิงได้แล้ว ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต สั่งการเจ้าหน้าที่เข้าดูแลชุมชน

อ๋อม อรรคพันธ์

อาลัย “อ๋อม อรรคพันธ์” เสียชีวิตแล้ว ด้วยวัย 39 ปี

อาลัย “อ๋อม อรรคพันธ์” พระเอกหนุ่มชื่อดัง เสียชีวิตแล้ว ด้วยวัย 39 ปี เพื่อนนักแสดงต่างโพสต์แสดงความอาลัยต่อการจากไป

เมาแล้วขับ

กฎกระทรวงฯ ฉบับใหม่ อายุต่ำ 20 แอลกอฮอล์เกิน 20 MG% คือเมา

หลังจากราชกิจจาฯ เผยแพร่ กฎกระทรวงเกณฑ์ตรวจปัสสาวะ-ตรวจเลือด นักดื่มเมาแล้วขับฉบับใหม่ ต่อไปนี้ ผู้ขับขี่ซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ให้ถือว่าเมาแล้วขับ