รัฐสภา 26 ก.ย.- “พริษฐ์” ย้ำพรรคประชาชนเดินหน้าชงแก้ รธน. 2 ทางคู่ขนาน แก้ทั้งฉบับ-รายมาตรา เสนอ 7 แพ็กเกจ แต่ขอเบรกแก้ประเด็นจริยธรรมไว้ก่อน เหตุหวั่นพรรคอื่นใช้เป็นเหตุผลไม่หนุนแก้รายมาตราอื่น ยันไม่เกี่ยวกระแสสังคม
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส. บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน แถลงจุดยืนพรรคประชาชนในการเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราคู่ขนานการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องเดินหน้า 2 เส้นทางคู่ขนานคือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และแก้ไขรายมาตราเพราะแก้ทั้งฉบับอย่างน้อย 1-2 ปี เพราะต้องมีการทำประชามติ 3 ครั้ง มีการตั้ง ส.ส.ร. และมีความเสี่ยงที่จะใช้ไม่ทันการเลือกตั้งปี 2570 และยังมีเรื่องการแก้ให้ลงประชามติด้วยเสียงข้างมากชั้นเดียวของ สว. อาจทำให้ตกลงกันไม่ได้ด้วย
นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่าการแก้ไขรายมาตราที่พรรคประชาชนเสนอ มี 7 แพ็กเกจ คือ
- A ลบล้างผลพวงรัฐประหาร ที่เสนอยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติฉบับ คสช. ทลายเกราะคุ่มกันคำสั่งประกาศ คสช. และเติมพลังต้านรัฐประหาร
- B ตีกรอบอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ที่เสนอยุติการผูกขาดอำนาจเรื่องมาตรฐานจริยธรรม ปลดล็อกพรรคการเมืองให้ยึดโยงประชาชนโดยแก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมือง
- C เพิ่มกลไกตรวจสอบการทุจริตเสนอป้องกันการฮั้วกันระหว่างรัฐบาล และ ป.ป.ช. เพิ่มอำนาจประชาชนในการร้องเรียนนักการเมือง เปิดเผยข้อมูลรัฐ คุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส
- D คุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน โดยเสนอ วิธีการศึกษาเรียน 15 ปี สิทธิมนุษยชน-สิ่งแวดล้อม ความเสมอภาคทางเพศ สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เสรีภาพในการแสดงออกและเงื่อนไขการจำกัดสิทธิเสรีภาพ
- E ปฏิรูปกองทัพ เสนอยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร ปรับขอบเขตอำนาตศาลทหาร
- F ยกระดับประสิทธิภาพรัฐสภา ยกระดับกลไกกรรมาธิการ ปรับนิยามฝ่ายค้าน เพิ่มอำนาจสภาฯ ในการพิจารณาร่างการเงิน
- G ปรับเกณฑ์เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 256 ได้
นายพริษฐ์กล่าวอีกว่า เคยเห็นตัวแทนพรรคเพื่อไทย ออกมาพูดเรื่องจริยธรรมว่ามีปัญหาจริงๆ จึงเสนอแก้และที่นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานวิปรัฐบาล บอกว่าเสนอร่างแก้รายมาตราเรื่องจริยธรรมเพื่อประกบพรรคประชาชนตามธรรมเนียมนั้นไม่ใช่ข้อเท็จจริง เพราะมีหลายฉบับที่ฝ่ายค้านเสนอแต่รัฐบาลไม่ได้เสนอประกบ พร้อมยืนยันว่าไม่ใช่เพียงแต่พรรคประชาชนที่เล็งเห็นปัญหาเรื่องนี้หลายพรรคการเมืองก็เคยให้ความเห็นว่าประเด็นจริยธรรมเป็นปัญหาเช่นกัน พร้อมย้ำอีกครั้งว่าการเสนอแก้ประเด็นจริยธรรมไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่งและไม่อยากให้เรื่องนี้ ถูกหยิบยกเป็นข้ออ้างในการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ดังนั้นพรรคประชาชนจะขอพักการผลักดัน เรื่องการแก้ไขรายมาตรา ประเด็นจริยธรรมเอาไว้ก่อน โดยเหตุผลที่เบรคยังย้ำจุดยืนเดิมที่ต้องการยุติการผูกขาดอำนาจมาตรฐานจริยธรรมที่ศาลรัฐธรรมนูญแต่ยังจะเดินสายอธิบายต่อสังคมต่อไป แต่ก็มีความกังวลใจ ที่พรรคอื่นจะใช้ประเด็น เรื่องมาตรฐานจริยธรรมมาเป็นเงื่อนไข ปัดตกไม่สนับสนุนการแก้ไข รายมาตรา เพราะเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก พร้อมยืนยันว่าการพักแก้เรื่องจริยธรรม ไม่เกี่ยวกับกระแสสังคม ที่คัดค้านอย่างหนัก
“ตัวอย่างที่สำคัญคือกรณีการตั้งคณะรัฐมนตรี ซึ่งตอกย้ำว่าสังคมมองว่าอาจมีการบังคับใช้มาตรฐานจริยธรรมอย่างไม่เป็นธรรม เช่น กรณีอดีตรัฐมนตรีคนหนึ่งที่วันนี้นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตรไม่กล้าแต่งตั้งเพราะกลัวขัดจริยธรรม แต่รัฐมนตรีคนเดียวกันนี้ อดีตนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชากลับแต่งตั้งได้โดยไม่ลังเลและไม่นำไปสู่ปัญหาใดๆ” นายพริษฐ์ กล่าว
นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่หากไม่ทันการเลือกตั้งครั้งต่อไปทุกพรรคการเมืองควรเห็นความจำเป็นในการร่วมมือ ในการแก้ไขรายมาตรา ก่อนจะมีฉบับใหม่ที่ชอบธรรมเพื่อทำให้ระบบการเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น และ 7 แพ็กเกจไม่จำเป็นต้องทำประชามติทุกเรื่อง ยืนยันว่าไม่มีแพ็กเกจไหน ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทยและจากนี้ไปต้องพูดคุยทำความเข้าใจต่อ
นายพริษฐ์ ยังอยากให้รัฐบาลชี้แจงโรดแมป ให้ชัดว่าการเดินหน้าจัดทำประชามติ 3 ครั้ง วางกรอบเวลาไว้อย่างไร ส่วนถ้าแก้ไม่ทันกับเลือกตั้งครั้งหน้าจะเกิดปัญหาอย่างไรนั้นนายพริษฐ์ ยืนยันว่า การแก้ไขรายมาตราอาจจะไม่สามารถแก้ได้ทุกแพ็กเกจ เพราะเป็นเรื่องยาก คงต้องรอทำฉบับใหม่แต่ระหว่างทาง หากทำอะไรได้ ก็ควรทำ
ทั้งนี้ ถ้ารัฐบาลไม่สามารถ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามนโยบายได้จะต้องรับผิดชอบอย่างไร นายพริษฐ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ประชาชนจะตัดสิน ไม่ใช่เพียงแค่รัฐธรรมนูญ รวมทุกๆ เรื่องที่รัฐบาลประกาศไว้สัญญาไว้ ตามนโยบายที่ถือเป็นสัญญาประชาคมถ้ารัฐบาลไม่สามารถรักษาสัญญาได้ ประชาชนก็จะสะท้อนผ่านการเลือกตั้งครั้งหน้า .-319 -สำนักข่าวไทย