กรุงเทพฯ 27 พ.ค. – ไทยเสี่ยงเจอสภาพอากาศสุดขั้วมากขึ้น น้ำท่วมฉับพลันสลับภัยแล้ง สิ้นศตวรรษนี้อาจร้อนขึ้น 4-5 องศาเซลเซียส กระทบเกษตร-เศรษฐกิจ แนะรัฐตั้งกองทุนช่วย SME รับมือ Climate Change
ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงศ์ นักวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวในงาน PIER Research Brief เรื่อง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กับ เศรษฐกิจ (Climate Change and the Economy) ว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิพื้นผิวโลกในช่วงหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม คือการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้นและการเพิ่มขึ้นของประชากรทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและรองรับการขยายตัวของเมือง
สำหรับสภาพพูมิอากาศของประเทศไทย ในช่วงระยะเวลา 30 ปี มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น 1 องศาเซลเซียส สภาพอากาศสุดขั้วของไทยมีความรุนแรงขึ้นและเกิดบ่อยครั้งขึ้น ข้อมูลจากหลายแบบจำลองภูมิอากาศพบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของไทยในอนาคตมีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกภาพจำลอง คาดการณ์ว่าสิ้นศตวรรษนี้ (2016-2099) อุณหภูมิของไทยมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น 4-5 องศาเซลเซียส หากยังไม่มีการดูแลลดโลกร้อน ลดก๊าซเรือนกระจก โดยมีแนวโน้มที่จะเผชิญอากาศร้อนมากขึ้นมีช่วงเวลาที่อากาศร้อนยาวนานขึ้นคาดการณ์ว่าไทยจะเผชิญทั้งปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมฉับพลันจากเหตุการณ์ฝนตกหนักมากยิ่งขึ้น
ส่วนในแง่ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบ ต่อสินทรัพย์และรายได้ ตลอดจนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของทั้งธุรกิจ ครัวเรือน สถาบันการเงิน และภาครัฐ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจมหภาคเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ทั้งจีดีพี เงินเฟ้อ และความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจ
โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม การปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ มีการคาดการณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงานสภาพอากาศ จะสร้างความเสียหายสะสมระหว่างปี 2554-2588 คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 0.61-2.85 ล้านล้านบาท ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิต จะได้รับผลกระทบแรงงานลดลง ต้นทุนสูง ส่วนภาคบริการจะกระทบแหล่งท่องเที่ยวปิดตัว จากภัยพิบัติ ซึ่งจะนำไปสู่ภาคครัวเรือนที่จะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ รายได้ รายจ่าย สินทรัพย์ และการเป็นหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ความเสี่ยงภาคการเงิน ที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แบ่งเป็น 5 ประเภทได้แก่ ด้านเครดิต ด้านภาวะตลาด ด้านการรับประกัน ด้านปฏิบัติการ และด้านสภาพคล่อง ส่วนภาคการคลัง จะกระทบสินทรัพย์ของภาครัฐ เนื่องจากรายได้จะลดลงและรายจ่ายจะเพิ่มขึ้น ตามการเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ไทยและทั่วโลก ต้องเริ่มปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง ควบคู่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อชะลอการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกที่จะส่งผลรุนแรงในอนาคต
ภาคธุรกิจมีการปรับทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ผู้ประกอบการรายใหญ่ฃจะดูตลอดห่วงโซ่อุปทาน ว่า มีการลดก๊าซเรือนกระจกมากน้อยแค่ไหน ขณะที่ SME และรายย่อย จำนวนมากที่อยู่นอกห่วงโซ่อุปทาน และไม่มีกำลังมากพอ จำเป็นต้องมีหน่วยงานภาครัฐมาช่วยเหลือ ติดอาวูธ องค์ความรู้ การเข้าถึงเทคโนโลยี การเข้าถึงแหล่งทุน อัตราดอกเบี้ยต่ำ พร้อมเสนอรัฐตั้งกองทุน ช่วยเหลือ SME ขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ สนับสนุนในการดำเนินงานด้าน Climate Change”. ดร.กรรณิการ์ กล่าว. -516-สำนักข่าวไทย