09 ธันวาคม 2566
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีคลิปวิดีโอข้อมูลเท็จเผยแพร่ทาง Facebook ในสหรัฐอเมริกา โดยอ้างว่าสาเหตุการป่วยเป็นโรคเอดส์มาจากการใช้ยาต้านไวรัส นอกจากนี้สาเหตุที่ทำให้ผู้ติดเชื้อไวรัส HIV จำนวนไม่น้อยป่วยเป็นมะเร็งชนิดคาโปซิ ซาร์โคมา (Kaposi’s Sarcoma) ก็มาจากการใช้ยาเสพติดชนิดสูดดมที่ชื่อ เอมิลไนไตรท์ (Amyl Nitrite) หรือ ป๊อปเปอร์ (Popper) หลักฐานสำคัญก็คือการไม่พบผู้ติดเชื้อไวรัส HIV ในแอฟริกาป่วยเป็นมะเร็งชนิดคาโปซิ ซาร์โคมา เนื่องจากไม่มีการใช้ป๊อปเปอร์ในแอฟริกา
บทสรุป :
- ไม่มีหลักฐานว่าการใช้ป๊อปเปอร์ จะทำให้ผู้ป่วยเอดส์เป็นมะเร็งชนิดคาโปซิ ซาร์โคมา
- แม้การใช้ป๊อปเปอร์จะมีผลต่อภูมิคุ้มกัน แต่สาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ป่วยเอดส์เป็นมะเร็งชนิดคาโปซิ ซาร์โคมา มาจากสภาวะระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
Popper
ป๊อปเปอร์ (เอมิลไนไตรท์) เป็นสารระเหยที่เคยใช้ในทางการแพทย์ เพื่อรักษาอาการเจ็บหน้าอกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด การสูดป๊อปเปอร์ทำให้หลอดเลือดขยายตัว ช่วยให้อาการเจ็บหน้าอกบรรเทาลง แต่ต่อมามีการนำป๊อปเปอร์ไปใช้เป็นยาเพื่อสันทนาการ รวมถึงการใช้เพื่อกระตุ้นความรู้สึกทางเพศ เมื่อฤทธิ์ของการสูดดมป๊อปเปอร์ส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัว ลดความดันโลหิต คลายกล้ามเนื้อ ทำให้หัวใจเต้นเร็ว การเกิดภาวะเคลิบเคลิ้ม และกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ
อันตรายของการใช้ป๊อปเปอร์นอกจากจะนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์อย่างไม่ปลอดภัยหรือไม่ได้ป้องกันแล้ว การใช้ร่วมกับยาลดความดันโลหิตจะทำให้ความดันเลือดตกอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต
Kaposi’s Sarcoma
โรคมะเร็งคาโปซิซาร์โคมา เป็นโรคมะเร็งที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส HHV-8 การติดเชื้อจะไม่แสดงอาการในผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันทำงานเป็นปกติ แต่จะพบในผู้ป่วยที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ผู้ป่วยจะเกิดรอยช้ำบริเวณผิวหนัง เช่น บริเวณขาและใบหน้า ในกรณีที่รุนแรงอาจแพร่กระจายไปสู่อวัยวะภายใน เช่น ในช่องปาก ปอด หรือระบบทางเดินอาหาร
โรคมะเร็งคาโปซิซาร์โคมาเป็นหนึ่งในโรคฉวยโอกาสที่พบได้บ่อยในกลุ่มผู้ป่วยเอดส์ที่มีอาการรุนแรง
AIDS Denialism
ในข้อความที่อ้างว่าการใช้ป๊อปเปอร์ทำให้ผู้ป่วยเอดส์เป็นมะเร็งคาโปซิซาร์โคมา นำมาจากบทสัมภาษณ์ของ โรเบิร์ต วิลล์เนอร์ แพทย์ชาวอเมริกันผู้สนับสนุนแนวคิด AIDS Denialism ที่ไม่เชื่อว่าโรคเอดส์มีสาเหตุจากการคิดเชื้อไวรัส HIV เขาเคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมในรัฐฟลอริดา ในข้อหาการละเมิดกฎระเบียบหลายข้อ รวมถึงการใช้โอโซนบำบัดมารักษาผู้ป่วยโรคเอดส์
แม้ โรเบิร์ต วิลล์เนอร์ จะเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 1995 แต่แนวคิด AIDS Denialism ของเขายังคงถูกนำมาเผยแพร่ทาง Facebook และ Tiktok เมื่อเดือนมีนาคม 2023 โดยข้อความยังมียอดไลก์และยอดแชร์หลายร้อยครั้ง
Popper ≠ Kaposi’s Sarcoma
แม้การใช้ป๊อปเปอร์จะส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย แต่งานวิจัยยุคหลังไม่พบว่าป๊อปเปอร์ทำให้ผู้ป่วยเอดส์เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งคาโปซิซาร์โคมามากขึ้น
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ The Lancet เมื่อปี 1993 เป็นการศึกษากลุ่มตัวอย่างเพศชายที่ใช้สารป๊อปเปอร์ โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ติดเชื้อไวรัส HIV และไม่ติดเชื้อ HIV โดยพบว่ามีเพียงกลุ่มที่ติดเชื้อไวรัส HIV ที่้ใช้สารป๊อปเปอร์ แล้วป่วยเป็นโรคมะเร็งคาโปซิซาร์โคมา
อย่างไรก็ดี งานวิจัยในปี 2017 ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ป๊อปเปอร์และการเสี่ยงเป็นมะเร็งของกลุ่มชายรักชาย ผลวิจัยไม่พบความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญ โดยสรุปว่าปัจจัยที่ทำให้ผู้ติดเชื้อไวรัส HIV ป่วยเป็นโรคมะเร็งคาโปซิซาร์โคมา มาจากความอ่อนแอของระบบภูมิคุ้มกัน
โรคมะเร็งคาโปซิซาร์โคมาแพร่ระบาดในแอฟริกา
งานวิจัยปี 2022 พบว่า ก่อนการระบาดของไวรัส HIV แทบไม่พบผู้ป่วยโรคมะเร็งคาโปซิซาร์โคมาในดินแดนแอฟริกาที่อยู่ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา (Sub-Saharan Africa) แต่เมื่อมีผู้ป่วยโรคเอดส์มากขึ้น โรคมะเร็งคาโปซิซาร์โคมาได้กลายเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญของแอฟริกา ทั้งจำนวนผู้ป่วยและยอดผู้เสียชีวิต
ข้อมูลอ้างอิง :
https://healthfeedback.org/claimreview/kaposis-sarcoma-opportunistic-cancer-occurs-advanced-aids-patients-not-caused-by-poppers/
https://en.wikipedia.org/wiki/Kaposi%27s_sarcoma
https://en.wikipedia.org/wiki/Poppers
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter