ชัวร์ก่อนแชร์: ยาต้านไวรัส AZT ทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงตายมากกว่าเชื้อเอดส์ จริงหรือ?

08 ธันวาคม 2566
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล


ข้อมูลที่ถูกแชร์ :

มีคลิปวิดีโอและข้อมูลเท็จเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ในสหรัฐอเมริกา โดยคลิปวิดีโอตัวแรกอ้างว่า แอนโทนี เฟาชี อดีตผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NIAID) เคยเป็นผู้ให้การรับรองยาซิโดวูดีน (Zidovudine หรือ AZT) เพื่อรักษาผู้ป่วยเอดส์จากการติดเชื้อไวรัส HIV เมื่อทศวรรษ 1980’s แต่กลับพบว่ายา AZT ทำให้ผู้ป่วยเอดส์เกิดอาการข้างเคียงจนเสียชีวิตมากกว่าผู้ป่วยเอดส์ที่ไม่ใช้ยา ไม่ต่างจากปัจจุบันที่ แอนโทนี เฟาชี แนะนำให้ประชาชนฉีดวัคซีนโควิด-19 แต่กลับมีผู้เสียชีวิตจากวัคซีนสูงกว่าผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโควิด-19


รวมถึงข้อความที่อ้างบทสัมภาษณ์ของ ฮาวีย์ เบียลีย์ อดีตนักชีววิทยาระดับโมเลกุลชาวอเมริกันซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสาร Spin เมื่อปี 1989 ก็ยืนยันว่ายาซิโดวูดีนเพิ่มความเสี่ยงการเสียชีวิตในกลุ่มผู้ป่วยเอดส์จริง

บทสรุป :

  1. ไม่มีหลักฐานว่า ยา AZT ทำให้ผู้รับยาเสียชีวิตมากกว่าผู้ป่วยเอดส์ที่ไม่ได้รับยา
  2. แม้ยา AZT จะก่อให้เกิดอาการข้างเคียงได้มากและทำให้เกิดไวรัสดื้อยาได้ง่าย แต่ก็ช่วยให้วงการแพทย์พบว่าการรักษาผู้ป่วยเอดส์จำเป็นต้องใช้ยาต้านไวรัสหลายสูตร
  3. แอนโทนี เฟาชี ไม่ใช่ผู้อนุมัติยาต้านไวรัสหรือวัคซีนโควิด-19 แต่เป็นหน้าที่ของ FDA

FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :


จากการตรวจสอบโดย Fact Checker ในต่างประเทศ ไม่พบว่าข้ออ้างทั้งสองเป็นความจริงแต่อย่างใด

คลิปวิดีโอตัวแรกที่กล่าวโจมตี แอนโทนี เฟาชี นำมาจากสารคดีอื้อฉาวเรื่อง Plandemic 3: The Great Awakening ไตรภาคของสารคดีที่เผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับวัคซีนและการแพร่ระบาดเชื้อของไวรัสโควิด-19

ส่วนข้อความที่ 2 ซึ่งอ้างความเห็นของ ฮาวีย์ เบียลีย์ นักชีววิทยาระดับโมเลกุลชาวอเมริกันผู้ล่วงลับก็ขาดความน่าเชื่อถือ เนื่องจาก ฮาวีย์ เบียลีย์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนแนวคิด AIDS Denialism ที่ไม่เชื่อว่าไวรัส HIV คือสาเหตุของการป่วยเป็นโรคเอดส์ ซึ่งปัจจุบันความเชื่อดังกล่าวจัดอยู่ในหมวดวิทยาศาสตร์ปลอมหรือ Pseudoscience นอกจากนี้คำกล่าวอ้างของ ฮาวีย์ เบียลีย์ ยังขาดหลักฐานและขัดแย้งกับข้อเท็จจริงทางการแพทย์เช่นเดียวกัน

ที่มาของยาต้านไวรัส AZT

ยาซิโดวูดีนหรือ AZT ถือเป็นยาต้านไวรัสชนิดแรกที่ใช้รักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส HIV

แต่เดิมยา AZT ถูกพัฒนาเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งในทศวรรษที่ 1960’s แต่การวิจัยต้องยุติลงหลังไม่พบประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง กระทั่งมีการนำยา AZT กลับมาวิจัยเพื่อใช้รักษาผู้ติดเชื้อไวรัส HIV เป็นครั้งแรกในปี 1984

ในปี 1981 มีรายงานการพบผู้ป่วยเอดส์ครั้งแรกในลอส แอนเจลิสจำนวน 5 ราย

จนกระทั่งปี 1987 ในสหรัฐอเมริกามีจำนวนผู้ป่วยเอดส์เพิ่มเป็น 47,022 ราย และมีผู้ป่วยเอดส์เสียชีวิตจนถึงปี 1987 ถึง 40,849 ราย

แรงกดดันที่มีต่อรัฐบาลต่อความล้มเหลวในการรับมือการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ ทำให้องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) ตัดสินใจอนุมัติการใช้ยา AZT เพื่อรักษาผู้ป่วยเอดส์เป็นครั้งแรกในปี 1987

การอนุมัติของ FDA อ้างอิงจากการวิจัยทดลองยาปี 1986 ของ Burroughs Wellcome บริษัทผู้ผลิตยา AZT ซึ่งแบ่งกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ป่วยเอดส์จำนวน 300 ราย โดยครึ่งหนึ่งได้รับการรักษาด้วยยา AZT เป็นเวลา 6 เดือน ส่วนอีกครึ่งหนึ่งได้รับยาหลอกเป็นน้ำตาลอัดเม็ด

แต่การทดลองยาต้องจบลงในเวลาเพียง 16 สัปดาห์ หลังพบว่ากลุ่มที่ได้รับยา AZT เสียชีวิตเพียงรายเดียว ส่วนกลุ่มที่รับยาหลอกเสียชีวิตไปถึง 19 ราย

Burroughs Wellcome จึงตัดสินใจยุติการทดลองยา เพราะเชื่อว่าประโยชน์ของยาเป็นที่ประจักษ์ และการทดลองยาต่อไปจะเป็นอันตรายต่อกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับยาหลอก เพราะพวกเขาควรได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง

ปัญหาของยา AZT

อย่างไรก็ดี ระยะเวลาที่ใช้ไปเพียง 2 ปีกับ 1 เดือน นับตั้งแต่การเริ่มทดลองยาจนถึงการผ่านการรับรอง ส่งผลให้ FDA ถูกวิจารณ์เรื่องการอนุมัติยารวดเร็วเกินไป ต่างจากปกติที่ต้องใช้เวลาตรวจสอบประสิทธิผลและความปลอดภัยของยาเป็นเวลา 8-10 ปี

หลังจากจำหน่ายไปแล้ว ยา AZT ยังถูกโจมตีในหลายประเด็น ทั้งกระบวนการทดลองของยาที่ขาดความรัดกุม เมื่อกลุ่มตัวอย่างบางรายยอมรับว่าสามารถแยกรสชาติได้อย่างชัดเจนว่าได้รับยา AZT หรือน้ำตาลอัดเม็ดที่ใช้เป็นยาหลอก

รวมถึงกระแสวิจารณ์เรื่องราคายา AZT ที่ผู้ป่วยต้องจ่ายเงินในการรักษาถึงปีละ 8,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการตัดโอกาสการเข้าถึงยาของผู้ป่วยทั่วไป

นอกจากนี้ ผู้ป่วยเอดส์ที่ใช้ยา AZT จำนวนไม่น้อยยังพบปัญหาจากอาการข้างเคียงหลายชนิด ทั้งอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ไม่อยากอาหาร นอนไม่หลับ จนถึงภาวะโลหิตจางและผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน

การคิดค้นยาต้านไวรัสแบบค็อกเทล

ปัญหาใหญ่ของผู้ป่วยเอดส์ที่ใช้ยา AZT คืออาการดื้อยาเนื่องจากการกลายพันธุ์ไวรัส

ข้อมูลในปี 1989 พบการดื้อยาในผู้ป่วยที่ใช้ยารักษาไปแล้วเกิน 6 เดือน ซึ่งบางรายสามารถเกิดอาการไวรัสดื้อยาหลังจากใช้ยาไปเพียงไม่กี่วัน

ปัญหาของการใช้ยา AZT ทำให้วงการแพทย์ตระหนักว่า การรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส HIV ด้วยยาเพียงชนิดเดียวเป็นการรักษาที่ไม่มีประสิทธิภาพ นำไปสู่การวิจัยปี 1996 ที่พบว่า การใช้ยาต้านไวรัส 3 ชนิดขึ้นไปหรือการรักษาด้วยรีโทรไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูง (Highly Active Antiretroviral Therapy หรือ HAART) จะช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสได้ดีขึ้นและลดโอกาสการดื้อยาของไวรัสได้มากขึ้น

วิธีการในยุคแรก คือการใช้ยา AZT ร่วมกับยายับยั้งการสร้างโปรตีนของไวรัส (Protease inhibitors) ซึ่งเป็นวิธีการที่สามารถลดการแบ่งตัวของไวรัสจนอยู่ในปริมาณที่แทบจะตรวจไม่พบ

ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐอเมริกาพบว่า การรักษาแบบ HAART ช่วยให้การเสียชีวิตของผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส HIV ในสหรัฐอเมริกาช่วงกลางทศวรรษ 1990’s ลดลงอย่างมาก

การคิดค้นยาทดแทน

ปัจจุบันมีการคิดค้นยาต้านไวรัสชนิดใหม่ ๆ มีก่อให้เกิดอาการข้างเคียงน้อยกว่ายา AZT ถึง 30 ชนิด ทำให้ความจำเป็นในการใช้ยา AZT กับผู้ติดเชื้อไวรัส HIV ลดลงอย่างมาก

อย่างไรก็ดี ยา AZT ยังมีความจำเป็นกับผู้ติดเชื้อไวรัส HIV บางกลุ่ม เช่น สตรีมีครรภ์ที่จำเป็นต้องใช้ยา AZT เพื่อลดโอกาสการส่งต่อเชื้อไวรัสไปยังทารกในครรภ์

ไม่มีหลักฐานว่ายา AZT ทำให้ผู้ป่วยตายมากกว่ากลุ่มที่ไม่ใช้ยา

แม้ยา AZT จะเต็มไปด้วยปัญหาเรื่องอาการข้างเคียงและการทำให้ไวรัสดื้อยา แต่ไม่มีงานวิจัยใดที่พบว่าการใช้ยา AZT ทำให้ผู้ติดเชื้อไวรัส HIV เสียชีวิตในอัตราที่สูงกว่าผู้ติดเชื้อที่ไม่ใช้ยา หรือไม่มีรายงานพบผู้ป่วยเอดส์เสียชีวิตจากการใช้ยา AZT เช่นกัน

ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ในยุค 1980’s ยา AZT มีประโยชน์ต่อผู้ป่วยเอดส์อย่างมาก ตัวยาเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับผู้คนนับล้าน และยังเป็นยาตั้งต้นที่ช่วยให้วงการแพทย์พัฒนาการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัส HIV ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย

แอนโทนี เฟาชี ไม่ใช่ผู้อนุมัติยา AZT

แม้ แอนโทนี เฟาชี จะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NIAID) ตั้งแต่ปี 1984 และเป็นผู้ริเริ่มโครงการวิจัยเกี่ยวกับ HIV/AIDS ตั้งแต่ปี 1986 ทั้งยังสนับสนุนการใช้ยา AZT เพื่อรักษาผู้ติดเชื้อไวรัส HIV มาตั้งแต่ต้น

แต่ แอนโทนี เฟาชี ไม่ใช่ผู้อนุมัติการใช้ยา AZT ตามที่กล่าวอ้าง เพราะบทบาทดังกล่าวเป็นขององค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ ข้อมูลที่ แอนโทนี เฟาชี ใช้สนับสนุนการใช้ยา AZT รักษาผู้ติดเชื้อไวรัส HIV ก็ตรงกับข้อมูลที่วงการแพทย์รับรองในเวลานั้นเช่นเดียวกัน

ข้อมูลอ้างอิง :

https://healthfeedback.org/claimreview/claims-that-people-were-being-killed-by-zidovudine-azt-instead-of-aids-are-unsubstantiated/
https://www.politifact.com/factchecks/2023/jun/09/instagram-posts/no-evidence-of-azidothymidine-or-azt-killing-hundr/
https://apnews.com/article/fact-check-aids-hiv-fauci-covid-pandemic-833586389602

ดูข่าวเพิ่มเติม

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter

หมายเหตุ : โฆษณาที่ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์นี้ แสดงผลโดยอัตโนมัติจากบริษัทผู้ให้บริการโฆษณา ไม่ใช่การสนับสนุนหรือส่งเสริมจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์แต่อย่างใด

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

มุกใหม่มิจฉาชีพ

มุกใหม่มิจฉาชีพ! ป่วนโทรแจ้ง ตร. เกิดเหตุร้ายที่บ้านเหยื่อ

อินฟลูฯ สาว สายทำอาหาร ถูกมิจฉาชีพอ้างเป็นตำรวจโทรหา แต่เธอไม่เชื่อ โดนท้าอีก 10 นาทีเจอกัน ปรากฏว่า มีตำรวจจาก 2 โรงพักบุกมาที่บ้านจริง

“วราวุธ” ระบุการแข่งขัน อบจ.-สุพรรณบุรี ไม่มีปัญหา

“วราวุธ” ระบุการแข่งขัน อบจ.-สุพรรณบุรี ไม่มีปัญหา บอกสนามใหญ่ ไม่เข้าไปก้าวก่ายสนามท้องถิ่น ซ้ายก็เพื่อน ขวาก็พวก

ครม.เคาะแจกเงินหมื่นเฟส 2 ผู้สูงอายุ 60 ปี

“จุลพันธ์” เผย ครม.เห็นชอบโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลุ่มผู้สูงอายุ วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการทันก่อน 29 ม.ค.68 รวม 3 มาตรการ สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ 1.4-1.5 แสนล้านบาท

ข่าวแนะนำ

จุดเทียนรำลึก 20 ปี สึนามิ

ค่ำคืนนี้ ที่อนุสรณ์สถานสึนามิบ้านน้ำเค็ม ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา สว่างไสวจากแสงเทียนนับพันเล่มที่ถูกจุดขึ้นเพื่อรำลึกถึงบุคคลที่รักซึ่งจากไปในเหตุการณ์สึนามิ เมื่อปี 2547 จากวันนั้นถึงวันนี้ ครบ 20 ปีเต็ม

สอบแล้ว 5 ปาก คลี่ปม “แบงค์ เลสเตอร์” ยังปฏิเสธจ้างดื่มโชว์

ผบช.ภ.2 เผย สอบแล้ว 5 ปาก พยานสำคัญ คลี่ปม “แบงค์ เลสเตอร์” ยังปฏิเสธจ้างดื่มโชว์ พร้อมไล่ไทม์ไลน์ เปิดผลชันสูตรเบื้องต้นหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ส่งชิ้นเนื้อ สารคัดหลั่ง เลือด และเศษอาหารในกระเพาะตรวจแล็บ หาสาเหตุที่แท้จริง

นายกฯ ตรวจความพร้อมหมอชิต 2 ให้บริการ ปชช.เดินทางช่วงปีใหม่

นายกฯ ตรวจความพร้อมหมอชิต 2 ให้บริการประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยไม่แจ้งล่วงหน้า กำชับ บขส. อำนวยความสะดวกเตรียมพร้อมรถ สั่งเข้มตรวจแอลกอฮอล์-ยาเสพติดพนักงานขับรถ ป้องกันอุบัติเหตุ