ตร.ไซเบอร์เตือนภัย มิจฉาชีพปลอมเว็บไซต์กระทรวงพาณิชย์ หลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอม หวังเข้าคุมมือถือเหยื่อ ก่อนดึงข้อมูลส่วนบุคคลรวมถึงรหัส PIN ไปใช้สวมรอยโอนเงิน เร่งประสานปิดเว็บแล้ว
กรุงเทพ 19 มี.ค. 66 – พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือ ตำรวจไซเบอร์ ประชาสัมพันธ์เตือนภัยกรณีการหลอกลวงให้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอม ผ่านทางเว็บไซต์ปลอม หวังสวมรอยขโมยเงินเหยื่อ สร้างความเสียหายแก่ข้อมูลและทรัพย์สินของประชาชน
สร้างเว็บฯ ปลอม แอบอ้างใช้สัญลักษณ์กระทรวง
บช.สอท. ตรวจสอบพบว่า http://moc-no-th.com เป็นเว็บไซต์ปลอมที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นเพื่อฉวยโอกาสจากความเชื่อถือ และความไม่รู้ของประชาชน โดยสร้างเลียนแบบให้คล้ายคลึงกันกับเว็บไซต์จริงของกระทรวงพาณิชย์ (https://www.moc.go.th) อีกทั้งภายในยังมีการใช้สัญลักษณ์ของหน่วยงาน หากประชาชนไม่ได้สังเกตเห็นความแตกต่างหรือไม่เคยใช้บริการเว็บไซต์จริงมาก่อนอาจตกเป็นเหยื่อได้
หลอกให้ติดตั้งแอปฯ ดึงข้อมูล หวังสวมรอยทำธุรกรรม
ส่วนสำคัญของหน้าเว็บไซต์ปลอมข้างต้นจะมีปุ่มให้คลิกเพื่อติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมซึ่งแท้จริงแล้วเป็นไฟล์อันตราย นามสกุล .APK โดยอันดับแรกจะมีการขอสิทธิ์เพื่อติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก ขอสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญ และขอสิทธิ์ควบคุมอุปกรณ์ จากนั้นทางแอปพลิเคชันดังกล่าวจะให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลทางการเงิน ทั้งยังให้ตั้งรหัส PIN 6 หลักจำนวนหลายครั้ง เพื่อหวังให้เหยื่อกรอกเลขชุดเดียวกับรหัสในการทำธุรกรรมทางเงินของแอปพลิเคชันธนาคาร เมื่อมิจฉาชีพได้สิทธิ์ควบคุมอุปกรณ์ไปแล้วจะล็อกหน้าจอโทรศัพท์มือถือของเหยื่อ ทำให้เสมือนว่าโทรศัพท์มือถือค้าง ก่อนจะนำรหัส PIN 6 หลักที่ได้มา ไปใช้ยืนยันการโอนเงินออกจากบัญชีของเหยื่อ
บช.สอท. เร่งประสานปิดกั้นเว็บฯปลอม
เบื้องต้นทางบช.สอท. ได้แจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เพื่อทำการปิดกั้นเว็บไซต์ดังกล่าว และประสานกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนไปยังประชาชนต่อไป
ด้านโฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีดังกล่าวโดยสังเขปว่า เมื่อผู้คนเริ่มรู้เท่าทันกลโกงแล้ว มิจฉาชีพมักเปลี่ยนแปลงหน่วยงานและเนื้อเรื่อง แต่ยังใช้แผนรูปแบบเดิม ดังนั้นการเข้าถึงเว็บไซต์หรือบริการต่าง ๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ควรตรวจสอบให้ดี ไม่หลงเชื่อเพียงเพราะการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ ใช้สัญลักษณ์ของหน่วยงาน หรือมีชื่อเว็บไซต์ที่คาดว่าอาจเป็นของจริง นอกจากนี้ต้องระมัดระวังการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลทางการเงิน ซึ่งมิจฉาชีพจะฉวยโอกาสไปแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบด้วย
ทีมข่าวไซเบอร์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์
ผู้สื่อข่าว : สุวัชรียา จันทร์บัว
พิสูจน์อักษร : พีรพล อนุตรโสตถิ์, แอนนา รักรอด
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter