ทำเนียบรัฐบาล 31 ต.ค.- รัฐบาลเดินหน้าพัฒนาระบบให้บริการผู้ใช้สิทธิบัตรทอง เพิ่มบริการทางเลือก เจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ รับยาที่ร้านยาชุมชนอบอุ่นกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ พร้อมเปิดให้บริการเร็วๆ นี้
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพของคนไทย เดินหน้าพัฒนาระบบให้บริการผู้ใช้สิทธิบัตรทองอย่างไม่หยุดนิ่ง เพื่อดูแลประชาชนผู้ใช้สิทธิให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นบริการคัดกรอง บริการตรวจรักษา และบริการฟื้นฟูฯ ที่จำเป็นต่อการดูแล โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อดูแลสุขภาพให้กับคนไทยทุกคน
น.ส.รัชดา กล่าวว่า รัฐบาลโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับสภาเภสัชกรรมเพิ่มทางเลือกใหม่ในการดูแลผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ให้บริการรับยารักษาอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ ที่ร้านยาชุมชนอบอุ่นใกล้บ้านที่เข้าร่วมกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ โดยขอให้ประชาชนสังเกตร้านยาเข้าร่วม ติดสติกเกอร์ด้านหน้า “ร้านยาคุณภาพของฉัน” ซึ่งพร้อมเริ่มให้บริการเร็วๆ นี้ โดยบริการทางเลือกจะครอบคลุมอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ ตามมาตรฐานการให้บริการเภสัชกรรมปฐมภูมิโดยสภาเภสัชกรรม ได้แก่ อาการปวดหัว เวียนหัว ปวดข้อ เจ็บกล้ามเนื้อ ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก ถ่ายปัสสาวะขัด, ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะเจ็บ ตกขาวผิดปกติ อาการทางผิวหนัง ผื่น คัน บาดแผล ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตา และความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับหู พร้อมติดตามอาการหลังรับยา 3 วัน โดยประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทองไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เนื่องจาก สปสช. ได้สนับสนุนการจ่ายชดเชยให้ร้านยา ทั้งค่าบริการให้คำปรึกษาด้านเภสัชกรรม ค่ายาและเวชภัณฑ์ และค่าติดตามอาการและผลการดูแล เหมาจ่ายในอัตรา 180 บาทต่อครั้ง ส่วนร้านยาชุมชนอบอุ่นที่ร่วมให้บริการ จะต้องผ่านการอบรมและควบคุมโดยสภาเภสัชกรรม ขณะนี้มีจำนวนกว่า 500 แห่งแล้ว
“สำหรับขั้นตอนการเข้ารับบริการ มีด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ 1.คนไข้สิทธิบัตรทองติดต่อไปยัง สปสช. ผ่านสายด่วน สปสช. 1330 จะมีเจ้าหน้าที่แนะนำให้รับบริการที่ร้านยาชุมชนอบอุ่นใกล้บ้าน หรือ 2.ดูรายชื่อร้านยาใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการได้ที่เว็บไซต์ สปสช. www.nhso.go.th หรือสังเกตสติกเกอร์ติดหน้าร้านยา ภายใต้ชื่อ ร้านยาคุณภาพของฉัน ให้บริการเจ็บป่วยเล็กน้อย หลังจากนั้นเมื่อผู้ป่วยสิทธิบัตรทองมาที่ร้านยา เภสัชกรจะคัดกรองสิทธิคนไข้ ให้คำแนะนำและให้ยารักษาตามอาการ หรือแนะนำให้พบแพทย์ เมื่อรับยาจากร้านยาแล้ว เภสัชกรจะติดตามอาการของผู้ป่วยในวันที่ 3 ของการจ่ายยา หากอาการดีขึ้นก็จะสิ้นสุดการดูแล กรณีอาการแย่ลงหรือมีการเปลี่ยนแปลงก็จะมีระบบการจัดการเพื่อส่งต่อเข้าสู่การรักษาต่อไป” น.ส.รัชดา กล่าว.-สำนักข่าวไทย