เพิ่มความร่วมรับผิดชอบ-ครอบคลุมสินทรัพย์ดิจิทัล-ตั้งศูนย์ ศปอท.-ไม่ร่วมมือมีโทษจำคุก-คุมเข้มซิมม้า
เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2568 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามภัยอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๘ และ พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๘ ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญเป็นการปรับแก้ไขและเพิ่มเติมพระราชกำหนดฉบับก่อนหน้า โดยกฎหมายทั้งสองฉบับมีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2568 ทั้งนี้ มีรายละเอียดสำคัญโดยย่อ ดังนี้
13 สิ่งใหม่ ใน พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568
อ่านพระราชกำหนดฉบับเต็ม : พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๘
ครอบคลุมสินทรัพย์ดิจิทัล
1. เพิ่มนิยามใหม่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล (มาตรา 3, 4) ขยายความหมายของ “ผู้ประกอบธุรกิจ” ให้รวมผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัล เพิ่มนิยาม “กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล” และขยายความหมายของบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์
“ผู้ประกอบธุรกิจ” หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงินและผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล”
“กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล” หมายความว่า ระบบที่ใช้ในการจัดเก็บสินทรัพย์ดิจิทัล (wallet)
“บัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์” หมายความรวมถึงบัญชีสินทรัพย์ดิจิทัล
2. เพิ่มการเปิดเผยข้อมูล “เลขที่กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล” ที่ต้องสงสัย และเพิ่ม สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ในผู้ร่วมเห็นชอบกระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูล (มาตรา 5)
หน่วยงานร่วมกำหนดมาตรฐานหรือมาตรการป้องกัน
3. กำหนดมาตรฐานและมาตรการเพื่อป้องกันภัยไซเบอร์ ให้หน่วยงาน ได้แก่ ธปท. ก.ล.ต. กสทช. สำนักงาน กสทช. และ คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกันกำหนดมาตรฐานหรือมาตรการได้ (มาตรา 4/1)
ค่ายมือถือและผู้ส่ง SMS มีหน้าที่คัดกรองเนื้อหา
4. ให้ผู้ให้บริการ SMS มีหน้าที่ต้องคัดกรองข้อความที่อาจเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (มาตรา 4/1)
ขึ้นบัญชีดำ อาชญากรห้ามเปิดบัญชีหรือทำธุรกรรม
5. สั่งปฏิเสธหรือระงับบัญชีและกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรม ตามรายชื่อจาก ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ศปอท.) (มาตรา 4/2)
บทกำหนดโทษ : สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจ ใดไม่ปฏิบัติตาม ระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท หากเป็นคำสั่งหรือการละเว้นไม่สั่งการของบุคคลใด ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 8/11)
สั่งปิดเบอร์อาชญากรได้
6. สั่งระงับบริการโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมไซเบอร์ เพิ่มอำนาจในการแจ้งให้ กสทช. สั่งระงับเบอร์/บริการที่ใช้ก่อเหตุ (มาตรา 5 วรรคสอง-สาม)
สั่งลบ สั่งปิดกั้นเว็บบริการสินทรัพย์ดิจิทัลที่ผิดกฎหมาย
7. สั่งลบหรือปิดกั้นข้อมูลคอมพิวเตอร์ผิดกฎหมาย ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ สั่งลบเนื้อหาผิดกฎหมาย (มาตรา 7/1)
บทกำหนดโทษ : ผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 8/11)
การจัดการบัญชีอาชญากรเพื่อคืนเงินผู้เสียหาย
8. ระบบการคืนเงินแก่ผู้เสียหาย ให้รวมถึงกรณีที่ ปปง.สงสัยหรือตรวจพบ หากบัญชีใดไม่มีผู้เสียหายมายื่นคำร้องภายใน 10 ปี ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (มาตรา 8/1 ถึง 8/4)
จัดตั้ง ศปอท.
9. จัดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ศปอท.) ในสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ ส่งผู้แทนเข้าร่วมปฏิบัติงาน โดยมีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้ (มาตรา 8/5 ถึง 8/9)
- รับแจ้งเหตุ
- สั่งระงับบัญชีต้องสงสัย และ สั่งเพิกถอนการระงับ
- สั่งให้หน่วยงานส่งข้อมูลบัญชีและธุรกรรมต้องสงสัย
- รวบรวมจำนวนบัญชีเงินฝากของบุคคล แต่ไม่รวมถึงจำนวนเงินในบัญชี
- เปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- ประกาศรายชื่อบุคคลหรือเลขที่กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
- แจ้งเบอร์โทร หรือ SMS หรือชื่อผู้ส่ง หรือข้อมูลอื่นให้ กสทช.สั่งระงับ
- รวบรวมข้อมูลเพื่อปฏิบัติการและจัดทำรายงานผล
กำหนดให้ร่วมรับผิดชอบความเสียหาย
10. ให้สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ โทรคมนาคม ผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ มีส่วนร่วมรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานหรือมาตรการที่กำหนดแล้ว
ยกระดับปราบซิมม้า คุมเข้มลงทะเบียน ครอบคลุมใช้ข้อมูลคนตาย
11. ผู้ซื้อหรือผู้ขายเบอร์โทรที่ลงทะเบียนไม่ถูกต้องครบถ้วน ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 11/1)
12. ผู้ใดใช้ เก็บรวบรวม ครอบครอง หรือเปิดเผย ข้อมูลผู้ถึงแก่กรรมเพื่อนำไปใช้กระทำความผิด ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 11/2)
13. หากเป็นการซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน เสนอซื้อ เสนอขาย เสนอแลกเปลี่ยน หรือแสวงหาประโยชน์ที่มิควร จากข้อมูลผู้ถึงแก่กรรม ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากเป็นการ (มาตรา 11/2)
สิ่งใหม่ใน พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2568
อ่านพระราชกำหนดฉบับเต็ม : พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๘
เพิ่มความครอบคลุมถึงผู้ให้บริการนอกราชอาณาจักร
“ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามวรรคหนึ่งให้รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งประกอบธุรกิจอยู่นอกราชอาณาจักรไทยแต่ให้บริการแก่บุคคลซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรไทย เว้นแต่ เป็นการให้บริการตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด” (มาตรา 3)
กำหนด 7 ลักษณะของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ถือว่าให้บริการแก่บุคคลซึ่งอยู่ในราชอาณาจักร
มาตรา ๒๖/๑ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามมาตรา ๒๖ วรรคสาม ที่มีลักษณะ อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นการให้บริการแก่บุคคลซึ่งอยู่ในราชอาณาจักร
(๑) มีการแสดงผลโดยผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นภาษาไทย
(๒) มีการจดทะเบียนผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยใช้ชื่อโดเมน “.th” หรือ “ไทย” หรือชื่ออื่นที่หมายถึงประเทศไทย ราชอาณาจักร หรือราชอาณาจักรไทย หรือใช้ชื่อโดเมนภาษาไทย
(๓) มีการกำหนดโดยผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้ผู้ใช้บริการชำระเงินหรือสามารถ เลือกชำระเงินเป็นสกุลเงินบาท หรือมีการรับชำระเงินผ่านบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ ในประเทศไทย
(๔) มีเงื่อนไขให้ใช้กฎหมายไทยเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับแก่ธุรกรรมซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ กำหนดให้ดำเนินคดีในศาลไทย
(๕) มีการจ่ายค่าบริการแก่ผู้ให้บริการสืบค้นแหล่งที่ตั้งของข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยให้ ผู้ใช้บริการในราชอาณาจักรไทยเข้าถึงบริการของผู้ประกอบธุรกิจเป็นการเฉพาะ
(๖) มีการจัดตั้งสำนักงาน หน่วยงาน หรือมีบุคลากรเพื่อให้การสนับสนุนหรือช่วยเหลือ ผู้ใช้บริการในราชอาณาจักรไทย
(๗) มีลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
รายละเอียดพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ภายหลังการปรับแก้ตามฉบับที่ 2
– ข้อความที่ถูกปรับแก้ยกเลิก แสดงเป็นข้อความที่ถูกขีดเส้นทับ
– ข้อความที่เพิ่มเติม แสดงเป็น ตัวเอียง
พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีพ.ศ. ๒๕๖๖
มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ ๒)
พ.ศ. ๒๕๖๘
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ให้ไว้ ณ วันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ เป็นปีที่ ๘ ในรัชกาลปัจจุบัน
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๘ เป็นปีที่ ๑๐ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
พระราชกำหนดนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๖ ประกอบกับมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๖ มาตรา ๓๗ และมาตรา ๔๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพบุคคลตามพระราชกำหนดนี้ เพื่อคุ้มครองประชาชนผู้สุจริตซึ่งถูกหลอกลวงจนสูญเสียไปซึ่งทรัพย์สิน โดยผ่านโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งแต่ละวันมีผู้ถูกหลอกลวงจำนวนมากและมีมูลค่าความเสียหายสูงมาก สมควรมีมาตรการเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมประเภทนี้ให้หมดไปโดยเร็ว อันเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ และความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการตราพระราชกำหนดนี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๗๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชกำหนดนี้เรียกว่า “พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๖๖”
มาตรา ๒ พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ในพระราชกำหนดนี้
“อาชญากรรมทางเทคโนโลยี” หมายความว่า การกระทำหรือพยายามกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อฉ้อโกง กรรโชก หรือรีดเอาทรัพย์บุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือโดยประการที่น่าจะทำให้บุคคลอื่นเสียหาย หรือกระทำความผิดฐานฉ้อโกง กรรโชก หรือรีดเอาทรัพย์ โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือ
“สถาบันการเงิน” หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน
“ผู้ประกอบธุรกิจ” หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงิน
“ผู้ประกอบธุรกิจ” หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงินและผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
“กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล” หมายความว่า ระบบที่ใช้ในการจัดเก็บสินทรัพย์ดิจิทัล (wallet)
“บัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์” หมายความรวมถึงบัญชีสินทรัพย์ดิจิทัล
มาตรา ๔ เพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีหรืออาจมีการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่เปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีและธุรกรรมของลูกค้าที่เกี่ยวข้อง และเลขที่กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัล ในระหว่างสถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจนั้นผ่านระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เห็นชอบร่วมกัน
เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมอื่น หรือผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่เปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลการให้บริการที่เกี่ยวข้องระหว่างกันผ่านระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เห็นชอบร่วมกัน
เมื่อมีการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองแล้ว ให้ผู้เปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลแจ้งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ แล้วแต่กรณี และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ทราบโดยทันที และเมื่อได้รับแจ้งแล้ว ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน แล้วแต่กรณี มีอำนาจนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์เพื่อป้องกัน ปราบปราม หรือระงับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้
มาตรา ๔/๑ เพื่อประโยชน์แห่งมาตรา ๘/๑๐ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กำหนดมาตรฐานหรือมาตรการเพื่อป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
ให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์และผู้ให้บริการโทรคมนาคมอื่นมีหน้าที่ตรวจสอบเพื่อคัดกรองเนื้อหาการบริการสารสั้น (SMS) ที่อาจเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีตามมาตรฐานหรือมาตรการที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติกำหนดตามวรรคหนึ่ง
มาตรา ๔/๒ เมื่อ ศปอท. ได้แจ้งรายชื่อบุคคลหรือเลขที่กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีตามประกาศในมาตรา ๘/๕ (๖) ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจปฏิเสธการเปิดบัญชี ระงับการให้บริการหรือการทำธุรกรรม หรือปิดบัญชีกับบุคคลที่มีรายชื่อหรือเลขที่กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าว จนกว่าจะมีการเพิกถอนรายชื่อบุคคลหรือเลขที่กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น
มาตรา ๕ ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และมีความจำเป็นต้องทราบข้อมูลการลงทะเบียนผู้ใช้งานหรือข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน แล้วแต่กรณี มีอำนาจสั่งให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมอื่น หรือผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องเท่าที่จำเป็น และเมื่อได้รับคำสั่งแล้ว ให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมอื่น หรือผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการกระทำนั้น มีหน้าที่ส่งข้อมูลดังกล่าวให้แก่ผู้สั่งภายในระยะเวลาที่ผู้สั่งกำหนด
ในกรณีที่ปรากฏพยานหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการใช้บริการโทรคมนาคมเพื่อกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีไม่ว่าจะปรากฏจากการตรวจสอบข้อมูลตามวรรคหนึ่งหรือพยานหลักฐานอื่นใด ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ศปอท. แล้วแต่กรณี แจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติสั่งให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมอื่น หรือผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการกระทำนั้น ระงับการให้บริการโทรคมนาคมดังกล่าว
การยกเลิกการระงับการให้บริการตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และ ศปอท. เห็นชอบร่วมกัน
มาตรา ๖ ในกรณีที่สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจพบเหตุอันควรสงสัยเองหรือได้รับข้อมูลจากระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลตามมาตรา ๔ ว่าบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ใดถูกใช้หรืออาจถูกใช้ทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่ระงับการทำธุรกรรมและแจ้งสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจที่รับโอนถัดไป พร้อมทั้งนำข้อมูลเข้าสู่ระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลตามมาตรา ๔ เพื่อให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจผู้รับโอนทุกทอดทราบและระงับการทำธุรกรรมดังกล่าวไว้ทันทีเป็นการชั่วคราวไม่เกินเจ็ดวันนับแต่วันที่พบเหตุอันควรสงสัยหรือได้รับแจ้ง แล้วแต่กรณี เพื่อตรวจสอบความถูกต้องแท้จริง และแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจดำเนินคดีอาญาหรือเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดำเนินการตรวจสอบ
ในกรณีที่สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจได้รับแจ้งเหตุตามวรรคหนึ่งจากเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจดำเนินคดีอาญาหรือเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่ระงับการทำธุรกรรม พร้อมทั้งนำข้อมูลเข้าสู่ระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลตามมาตรา ๔ เพื่อให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจผู้รับโอนทุกทอดทราบและระงับการทำธุรกรรมดังกล่าวไว้ทันที แล้วแจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ
เมื่อเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจดำเนินคดีอาญาหรือเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินตรวจสอบแล้ว ปรากฏพยานหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์นั้นถูกใช้ในการกระทำความผิด ให้ดำเนินการตามกฎหมายภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการระงับการทำธุรกรรมตามวรรคหนึ่ง หรือแจ้งสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจตามวรรคสอง หากไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่เชื่อได้ว่าบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์นั้นถูกใช้ในการกระทำความผิด ให้แจ้งผลการตรวจสอบให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจทราบเพื่อยกเลิกการระงับการทำธุรกรรมต่อไป
เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามวรรคสามแล้ว หากเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจดำเนินคดีอาญาหรือเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินไม่แจ้งผลการดำเนินการ ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจยกเลิกการระงับการทำธุรกรรมนั้น
มาตรา ๗ ในกรณีที่สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจได้รับแจ้งจากผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ถือบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ว่า ได้มีการทำธุรกรรมโดยบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวและเข้าข่ายเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวมีหน้าที่ระงับการทำธุรกรรมนั้นไว้ชั่วคราว พร้อมทั้งนำข้อมูลเข้าสู่ระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลตามมาตรา ๔ เพื่อให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจผู้รับโอนทุกทอดทราบและระงับการทำธุรกรรมดังกล่าวไว้ทันที และแจ้งให้ผู้เสียหายไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายในเจ็ดสิบสองชั่วโมง เมื่อมีการร้องทุกข์แล้ว ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับการทำธุรกรรมไว้ทราบ และให้พนักงานสอบสวนพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับบัญชีเงินฝากและบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งความร้องทุกข์ หากไม่มีคำสั่งให้ระงับการทำธุรกรรมไว้ต่อไปภายในเวลาดังกล่าว ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจยกเลิกการระงับการทำธุรกรรมนั้น
มาตรา ๗/๑ เมื่อความปรากฏต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ว่ามีผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวมีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ผิดกฎหมายออกจากระบบคอมพิวเตอร์โดยพลัน
การสั่งระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ผิดกฎหมายออกจากระบบคอมพิวเตอร์ตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการตามขั้นตอนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมประกาศกำหนด
มาตรา ๘ การแจ้งข้อมูลหรือหลักฐานตามมาตรา ๖ และมาตรา ๗ จะกระทำทางโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ในกรณีที่กระทำทางโทรศัพท์ ให้ผู้ได้รับแจ้งบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ลงลายมือชื่อผู้รับแจ้ง และวันเวลาที่ได้รับไว้เป็นหลักฐาน พร้อมทั้งส่งสำเนาให้ผู้แจ้งเก็บไว้เป็นหลักฐานด้วย
การร้องทุกข์ในความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีจะกระทำต่อพนักงานสอบสวน ณ สถานีตำรวจแห่งใดในราชอาณาจักรหรือต่อกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีก็ได้ และจะร้องทุกข์โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ โดยให้ถือว่าเป็นการร้องทุกข์โดยชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และในการสอบสวนหรือดำเนินการเกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าว ให้พนักงานสอบสวนที่รับคำร้องทุกข์ไม่ว่าประจำอยู่ที่ใดหรือพนักงานสอบสวนที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนด เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบมีอำนาจสอบสวนและดำเนินการเกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าวได้ไม่ว่าความผิดนั้นจะเกิดขึ้น ณ ที่ใดในราชอาณาจักร
มาตรา ๘/๑ เพื่อประโยชน์ในการคืนเงินแก่ผู้เสียหายจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยีให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
ในการตรวจสอบรายงานตามวรรคหนึ่ง ให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ และอาจขอให้หน่วยงานของรัฐ สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน หรือเข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่ตามความเหมาะสมก็ได้
หน่วยงานของรัฐ สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจตามวรรคสอง ต้องให้ความช่วยเหลือสนับสนุน หรือมอบหมายบุคคลเข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่ตามสมควรแก่กรณี และให้บุคคลที่ได้รับมอบหมายเข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่ได้รับค่าตอบแทนตามระเบียบที่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
การรายงานและการตรวจสอบรายงานให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๘/๒ เมื่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้ตรวจสอบรายงานตามมาตรา ๘/๑ แล้ว ให้ประกาศข้อมูลบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในราชกิจจานุเบกษา และในประกาศดังกล่าว ให้แจ้งผู้เสียหายให้ยื่นคำร้องพร้อมแสดงหลักฐานแห่งความเสียหาย และแจ้งผู้ที่เกี่ยวข้องกับบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ ให้ยื่นคำร้องคัดค้านพร้อมแสดงหลักฐานว่าเงินในบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในกรณีการแจ้งผู้เสียหายนั้น หากทราบตัวผู้เสียหายที่ชัดเจนแน่นอนให้แจ้งให้ผู้เสียหายนั้นทราบโดยตรงอีกทางหนึ่งด้วย
เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบคำร้องตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการธุรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และให้คณะกรรมการธุรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินมีอำนาจสั่งคืนเงินให้แก่ผู้เสียหาย
การแจ้ง การยื่นคำร้อง การตรวจสอบคำร้อง การเสนอเรื่อง และการพิจารณาคืนเงินให้แก่ผู้เสียหาย การแจ้งผลการพิจารณาต่อผู้เสียหายและผู้ที่เกี่ยวข้อง และวิธีการคืนเงินให้แก่ผู้เสียหายให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวง
ในกรณีที่ผู้เสียหายหรือผู้ที่เกี่ยวข้องไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของคณะกรรมการธุรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ให้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการพิจารณา และให้นำหมวด ๕ การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินแห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด
มาตรา ๘/๓ ให้นำมาตรา ๘/๑ และมาตรา ๘/๒ มาใช้บังคับแก่กรณีที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพบเหตุอันควรสงสัยเองหรือได้รับข้อมูลจากระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลตามมาตรา ๔ ด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๘/๔ ในกรณีปรากฏข้อเท็จจริงว่าบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ใดไม่มีผู้เสียหายหรือผู้ที่เกี่ยวข้องมายื่นคำร้องภายในสิบปีนับแต่วันที่ครบกำหนดตามมาตรา ๘/๒ หรือปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้คืนเงินให้แก่ผู้เสียหายแล้วแต่ยังมีเงินเหลืออยู่ในบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ ให้เงินในบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน แต่ไม่ตัดสิทธิเจ้าของเงินหรือเจ้าของบัญชีที่จะขอรับเงินคืนจากกองทุนป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินภายหลังจากนั้น ถ้าพิสูจน์ได้ว่าตนมีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจมารับคืนได้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ในกรณีเช่นนั้น ให้คืนเงินให้แก่ผู้นั้น
มาตรา ๘/๕ ให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เรียกโดยย่อว่า “ศปอท.” ในสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) รับแจ้งเหตุอันควรสงสัยว่ามีหรืออาจมีการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีจากผู้เสียหาย และให้ถือว่าการแจ้งเหตุดังกล่าวเป็นการร้องทุกข์โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรา ๘ วรรคสอง
(๒) ระงับการทำธุรกรรมที่เป็นบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรากฏพยานหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีโดยทันที หรือเพิกถอนการระงับการทำธุรกรรมดังกล่าวในกรณีที่พิสูจน์ได้ว่ามิได้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
(๓) สั่งให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจนำส่งข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีและธุรกรรมที่ต้องสงสัย
(๔) รวบรวมจำนวนบัญชีเงินฝากที่บุคคลใดถือไว้ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบว่ามีหรืออาจมีการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงจำนวนเงินฝากทั้งหมดหรือของแต่ละบัญชี
(๕) เปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีกับหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้อง
(๖) ประกาศรายชื่อบุคคลหรือเลขที่กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และเพิกถอนรายชื่อบุคคลหรือเลขที่กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าว ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่ ศปอท. ประกาศกำหนด
(๗) แจ้งข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์ บริการสารสั้น (SMS) หรือชื่อผู้ส่งสารสั้น หรือข้อมูลการใช้บริการโทรคมนาคมอื่น ให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติทราบ เพื่อดำเนินการตามมาตรา ๕ วรรคสอง
(๘) รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเพื่อปฏิบัติการตามพระราชกำหนดนี้
(๙) จัดทำรายงานผลการดำเนินการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเสนอคณะกรรมการตามมาตรา ๑๓ เดือนละหนึ่งครั้ง
มาตรา ๘/๖ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐหรือหน่วยงานของเอกชนที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดแต่งตั้งผู้แทนเข้าร่วมปฏิบัติงานใน ศปอท.
มาตรา ๘/๗ ให้คณะกรรมการตามมาตรา ๑๓ แต่งตั้งหัวหน้า ศปอท. โดยมีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) รับผิดชอบในการบริหารงานของ ศปอท.
(๒) เป็นผู้แทนของ ศปอท. ในการติดต่อกับบุคคลภายนอก
(๓) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนดนี้
(๔) ปฏิบัติการอื่นตามที่คณะกรรมการตามมาตรา ๑๓ มอบหมาย
มาตรา ๘/๘ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมอาจวางระเบียบการปฏิบัติงานของ ศปอท. ก็ได้
มาตรา ๘/๙ ให้เจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานใน ศปอท. ได้รับค่าตอบแทนตามระเบียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
มาตรา ๘/๑๐ ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ผู้ให้บริการโทรคมนาคมอื่น ผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ มีส่วนร่วมรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมอื่น ผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานหรือมาตรการเพื่อป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ แล้วแต่กรณี
มาตรา ๘/๑๑ สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔/๒ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท
ในกรณีที่การกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของกรรมการหรือผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องสั่งการหรือกระทำการและละเว้นไม่สั่งการหรือไม่กระทำการจนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทำความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๘/๑๒ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๗/๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๙ ผู้ใดเปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตน โดยมิได้มีเจตนาใช้เพื่อตนหรือเพื่อกิจการที่ตนเกี่ยวข้อง หรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้หรือยืมใช้เลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตน ทั้งนี้ โดยประการที่รู้หรือควรรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือความผิดทางอาญาอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๐ ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใด ๆ เพื่อให้มีการซื้อ ขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๑ ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใด ๆ เพื่อให้มีการซื้อ หรือขายเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้บริการในนามของบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๑/๑ ในกรณีที่ผู้ซื้อเลขหมายโทรศัพท์ลงทะเบียนเพื่อใช้บริการ หรือผู้ขายเลขหมายโทรศัพท์ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการลงทะเบียนให้แก่ผู้ใช้บริการ ลงทะเบียนไม่ถูกต้องครบถ้วนตามที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติกำหนด โดยประการที่รู้หรือควรรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๑/๒ ผู้ใดใช้ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลหรือผู้ถึงแก่กรรมซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลหรือผู้ถึงแก่กรรมนั้นได้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดเก็บรวบรวม ครอบครอง หรือเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลหรือผู้ถึงแก่กรรมซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลหรือผู้ถึงแก่กรรมนั้นได้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อนำไปใช้หรือให้บุคคลอื่นใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอื่นใด ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติในวรรคหนึ่ง
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองได้กระทำโดยซื้อ เสนอซื้อ ขาย เสนอขายแลกเปลี่ยน เสนอแลกเปลี่ยน หรือแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๒ การเปิดเผย การแลกเปลี่ยน การเข้าถึง ตลอดจนการเก็บ การรวบรวม หรือการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลตามพระราชกำหนดนี้ ไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แต่ผู้ได้รับหรือครอบครองข้อมูลจะเปิดเผยให้บุคคลอื่นซึ่งไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทราบมิได้
มาตรา ๑๓ ในวาระเริ่มแรกให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง มีจำนวนตามที่เห็นสมควร เพื่อกำหนดแนวทางในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเหตุอันควรสงสัยตามพระราชกำหนดนี้ รวมทั้งให้คำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติการตามพระราชกำหนดนี้ โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมทำหน้าที่หน่วยธุรการของคณะกรรมการดังกล่าว และให้ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแต่งตั้งข้าราชการของสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ โดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจะแต่งตั้งข้าราชการจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้ช่วยเลขานุการด้วยก็ได้
เมื่อครบห้าปีหลังจากที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ให้สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมประเมินความจำเป็นในการให้มีคณะกรรมการตามวรรคหนึ่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ โดยในกรณีมีความจำเป็นต้องมีคณะกรรมการต่อไป ให้เสนอแนะหน่วยงานที่จะทำหน้าที่หน่วยธุรการของคณะกรรมการต่อไปด้วย ในกรณีที่เห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีคณะกรรมการดังกล่าวต่อไป และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบด้วย ให้คณะกรรมการดังกล่าวสิ้นสุดลงนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติหรือวันที่คณะรัฐมนตรีกำหนด แล้วแต่กรณี
ในกรณีที่เห็นควรมีคณะกรรมการตามวรรคหนึ่งต่อไป คณะรัฐมนตรีจะกำหนดให้มีคณะกรรมการเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเป็นคราว ๆ หรือตลอดไปก็ได้ ในกรณีเช่นนั้นการแต่งตั้งและวาระการดำรงตำแหน่งให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
มาตรา ๑๔ ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รักษาการตามพระราชกำหนดนี้
หมายเหตุ (ฉบับที่ ๑) :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันมีการใช้วิธีการทางเทคโนโลยีหลอกลวงประชาชนทั่วไปผ่านอุปกรณ์เทคโนโลยีต่าง ๆ จนทำให้ประชาชนสูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก และผู้หลอกลวงได้โอนทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดดังกล่าวนั้นผ่านบัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของบุคคลอื่นต่อไปเป็นทอด ๆ อย่างรวดเร็ว เพื่อปกปิดหรืออำพรางการกระทำความผิด ซึ่งแต่ละวันประชาชนผู้สุจริตถูกหลอกลวงจำนวนมากและมีมูลค่าความเสียหายสูงมาก และการหลอกลวงดังกล่าวซึ่งเป็นการกระทำความผิดได้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างและเป็นอันตรายร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะต้องมีมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ และความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้
หมายเหตุ (ฉบับที่ ๒) :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่ปรากฏว่ามีการนำเงินที่ได้จากการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีไปซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งทำให้ยากต่อการตรวจสอบการทำธุรกรรมและการระงับการทำธุรกรรม การใช้บริการโทรคมนาคมเพื่อกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และการนำข้อมูลของบุคคลหรือผู้ถึงแก่กรรมมาใช้ในการกระทำความผิดดังกล่าว สมควรกำหนดมาตรการเพิ่มเติมในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในกรณีดังกล่าว และจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รวมทั้งกำหนดกระบวนการการคืนเงินแก่ผู้เสียหายให้เป็นไปโดยเร็ว และการมีส่วนร่วมรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเพื่อเยียวยาผู้เสียหาย ตลอดจนการกำหนดโทษในส่วนที่เกี่ยวข้องจึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะต้องมีมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ และความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้
รวบรวม และ เรียบเรียง โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ อสมท
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter