กทม. 13 มี.ค. – สปสช. แจงกรณีผู้ป่วยใน กทม. ร้องเรียนเรื่องความยุ่งยากในการใช้เอกสารรับบริการ ยันสามารถรับการรักษาใน รพ.ได้ แม้ไม่มีใบส่งตัว เร่งแก้ปัญหาด้านข้อมูลไม่ให้เกิดความยุ่งยากต่อผู้ป่วย
สปสช. จัดเแถลงข่าว “แนวทางการส่งต่อผู้ป่วยบัตรทองใน กทม.” โดยมี พญ.ลลิตยา กองคำ, ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. และ ทพญ.น้ำเพชร ตั้งยิ่งยง ผอ.สปสช. เขต 13 กทม. เข้าร่วม ที่อาคารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จากกรณีผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ร้องเรียนเกี่ยวกับความยุ่งยากในการเข้ารับบริการจากคลินิกปฐมภูมิและโรงพยาบาลแม่ข่าย หลังมีมติปรับเปลี่ยนระบบการเบิกจ่ายให้กับคลินิก จากการจ่ายตามรายการ ไปเป็นการจ่ายแบบเหมาจ่ายรายหัว
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ กล่าวว่า การจ่ายแบบเดิมทำให้คลินิกที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกัน สามารถออกใบส่งตัวแทนกันได้ แม้ว่าผู้ป่วยรายดังกล่าวจะไม่ได้มีรายชื่ออยู่ในการดูแลของคลินิกปฐมภูมิแห่งนั้น แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงให้คลินิกปฐมภูมิแต่ละแห่งเป็นผู้ดูแลและเหมาจ่ายตามจำนวนรายชื่อผู้ป่วยในการดูแลของตนเอง ทำให้ผู้ป่วยบางส่วนที่เดิมเคยสะดวกเข้ารักษาที่คลินิกหนึ่ง ต้องย้ายไปขอใบส่งตัวจากคลินิกอีกแห่งหนึ่งที่เป็นคลินิกปฐมภูมิที่ตนมีชื่ออยู่ในระบบ เนื่องจากทางโรงพยาบาลร้องขอใบส่งตัวจากคลินิกปฐมภูมิ ซึ่งสร้างความยุ่งยากในการเข้ารับการรักษา ทาง สปสช. ยืนยันว่า ประชาชนสามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลได้ โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัวจากคลินิก ทาง สปสช. จะทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่หน้างานในโรงพยาบาลโดยตรงว่าสามารถรับผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาลและเบิกจ่ายจาก สปสช. ได้ และบางกรณีที่ทางคลินิกไม่ทำใบส่งตัวให้ สปสช. ย้ำว่า ขอความร่วมมือทางคลินิกปฐมภูมิเมื่อพิจารณาแล้วว่าไม่มีศักยภาพเพียงพอต่อรักษา จะต้องส่งตัวผู้ป่วยมายังศูนย์บริการหรือโรงพยาบาลที่รับส่งต่อในทันที เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด
อีกปัญหาคือการย้ายการรักษาจากโรงพยาบาลมายังคลินิก ที่ต้องเดินทางไปขอประวัติการรักษาจากโรงพยาบาลเดิม ในส่วนนี้ทาง สปสช. จะเร่งแก้ปัญหารายกรณีไปก่อน หลังจากนี้จะสร้างระบบข้อมูลให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลการรักษาของตนเองได้ โดยไม่ต้องขอประวัติการรักษาจากหน่วยบริการเดิม ซึ่งจะใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือน ในการสร้างระบบดังกล่าว ยอมรับว่าค่อนข้างใช้เวลา เนื่องจากการเชื่อมโยงข้อมูลระบบการรักษาในพื้นที่ กทม. ซับซ้อนกว่าจังหวัดอื่น เพราะหน่วยบริการมีสังกัดต่างกัน แต่ยืนยันว่าโครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ในกรุงเทพมหานคร จะเกิดขึ้นภายในปีนี้ ตามที่ รมว. ชลน่าน ศรีแก้ว ได้มอบนโยบายไว้
เบื้องต้นทราบว่ามีผู้ร้องเรียนที่สายด่วนเป็นจำนวนมาก อาจมีความล่าช้าในการให้บริการบ้าง สำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นเร่งด่วน แนะนำให้แจ้งปัญหาผ่านสายด่วน 1330 กด 18 และผู้ที่มีความเร่งด่วนรองลงมาสามารถทิ้งข้อความไว้ทางช่องทางออนไลน์ได้ ทางเจ้าหน้าที่จะรีบตอบกลับโดยเร็วที่สุด.-สำนักข่าวไทย