อุบลราชธานี 27 ก.ย.- อธิบดีกรมชลประทาน สั่งยกระดับมาตรการรับพายุ “โนรู” ในลุ่มน้ำมูล โดยใช้โมเดลการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 62 ซึ่งเกิดอุทกภัยมาปรับใช้ ย้ำปีนี้ปริมาณน้ำลุ่มน้ำชี-มูลไม่มากเหมือนปี 62 แต่การยกระดับมาตรการรับมือจะลดผลกระทบในปีนี้ได้ ล่าสุดมีการแจ้งเตือนจาก กฟผ. ว่า เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ในลุ่มน้ำชี อาจเต็มความจุในอีก 4 วัน
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำชี-มูล โดยวันนี้ (27 ก.ย.65) ระดับน้ำแม่น้ำมูล ที่สถานีวัดน้ำ M.7 อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี สูงขึ้นกว่าเมื่อวานนี้ 13 เซนติเมตร และมีแนวโน้มสูงขึ้น ระดับน้ำอยู่ที่ 113.60 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งสูงกว่าระดับตลิ่งที่ 112 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง หรือสูงกว่าตลิ่ง 1.60 เมตรแล้ว ส่วนอัตราการไหลอยู่ที่ 2,300 ลบ.ม./วินาที เกินกว่าศักยภาพลำน้ำ ซึ่งอยู่ที่ 3,310 ลบ.ม./วินาที เป็นผลให้น้ำท่วม อ.วารินชำราบ ซึ่งอยู่อีกฝั่งแม่น้ำ ส่วนฝั่งอำเภอเมือง พื้นที่เศรษฐกิจยังปลอดภัย แต่มีน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำบ้างแล้ว
ทั้งนี้ สั่งการให้ยกระดับมาตรการรับสถานการณ์น้ำ ช่วงที่พายุ “โนรู” จะเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า จะเข้าทาง จ.อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ ประมาณ 01.00-04.00 น. ของวันที่ 29 ก.ย.65 จึงจำเป็นต้องเร่งระบายน้ำแม่น้ำมูลที่อุบลราชธานีออกสู่แม่น้ำโขงโดยเร็ว
สำหรับการยกระดับมาตรการรับสถานการณ์น้ำ จะใช้แนวทางบริหารจัดการของฤดูฝนปี 2562 มาเป็นต้นแบบ เนื่องจากปี 2562 เป็นปีฝนมากและเกิดน้ำท่วม จ.อุบลราชธานี กรมชลประทานเสริมเครื่องผลักดันน้ำและเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่เข้ามาคลี่คลายสถานการณ์ แม้ปี 2565 ปริมาณน้ำไม่มากเท่าปี 2562 แต่จะนำโมเดลมาปรับใช้ เพื่อลดผลกระทบของประชาชนในพื้นที่
ปัจจุบันได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในลุ่มน้ำมูล 140 เครื่อง และเครื่องสูบน้ำขับเคลื่อนด้วยระบบไฮดรอลิก ที่สะพานพิบูลมังสาหาร อ.พิบูลมังสาหาร ซึ่งมีแก่งสะพือเป็นอุปสรรคต่อการไหลของน้ำ จึงจะติดตั้งเพิ่มที่เขื่อนกั้นน้ำในลำน้ำมูลให้เหมือนในปี 2562 เพื่อเร่งอัตราการไหลของน้ำ โดยติดตั้งที่เขื่อนยโสธร อ.เมือง จ.ยโสธร เขื่อนธาตุน้อย อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี เขื่อนลำเซบาย อ.เมืองอุบลราชธานี และที่สะพานโขงเจียม อ.โขงเจียม ซึ่งเป็นพื้นที่สุดท้ายก่อนไหลออกสู่แม่น้ำโขง
ทั้งนี้ การเร่งระบายน้ำแม่น้ำมูลออกสู่แม่น้ำโขง เป็นมาตรการสำคัญในการลดผลกระทบจากพายุ “โนรู” เนื่องจากจะทำให้สามารถรองรับน้ำที่ระบายมาจากตอนบนของแม่น้ำมูล และน้ำจากแม่น้ำชี ซึ่งไหลมาบรรจบกับแม่น้ำมูล ในเขต อ.เมืองอุบลราชธานี
สำหรับในลุ่มน้ำชี 1 แม่น้ำชีตอนบน ที่ จ.ชัยภูมิ และแม่น้ำชีตอนกลาง ที่ จ.มหาสารคาม ปริมาณน้ำมาก ล้นตลิ่งบางแห่ง ขณะที่แม่น้ำชีตอนล่าง ที่ จ.ร้อยเอ็ด ระดับน้ำสูงขึ้น ได้ให้เร่งระบายน้ำและพร่องน้ำอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อเตรียมรับฝนที่จะตกหนักจากพายุ “โนรู” พร้อมกันนี้ให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำของอ่างเก็บน้ำลำคันฉู อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า พายุ “โนรู” จะมีความรุนแรงและทิศทางการเคลื่อนตัวคล้ายพายุ “เตี้ยนหมู่” ในปี 2564 ดังนั้นอาจทำให้อ่างเก็บน้ำลำคันฉู ซึ่งมีน้ำอยู่ 62% เต็มความจุในห้วงที่ได้รับอิทธิพลจากพายุแล้ว มีน้ำส่วนเกินไหลระบายผ่านอาคารระบายน้ำล้น ส่งผลให้ลำน้ำสาขาด้านท้ายมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ ห้วยวังตาลาด ห้วยยายจิ๋ว ห้วยม่วง ห้วยตักตาด และห้วยทักทาม ซึ่งโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีบน ออกประกาศแจ้งเตือนประชาชนแล้ว
ล่าสุดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ออกประกาศแจ้งเตือนให้เฝ้าระวังระดับน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ซึ่งวันนี้มีปริมาณน้ำ 2,023 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 83% น้ำไหลเข้าวันละ 107 ล้าน ลบ.ม. ระบาย 25 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกเพียง 408 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งหากมีปริมาณน้ำไหลเข้ามากจากพายุ “โนรู” อาจทำให้น้ำเต็มความจุในวันที่ 1 ต.ค.นี้ ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการลุ่มน้ำชี ในวันพรุ่งนี้ (28 ก.ย.65) อาจมีการพิจารณาปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์.-สำนักข่าวไทย