กรุงเทพฯ 19 ก.ย.-กรมชลประทานเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในแม่น้ำมูลที่ไหลผ่านอำเภอเมือง จ. อุบลราชธานี เร่งระบายน้ำแม่น้ำมูลออกสู่แม่น้ำโขง หลัง กอนช. คาดฝนตกหนักบริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบนระหว่าง 18-24 ก.ย.นี้ เตรียมเครื่องสูบน้ำช่วยลดผลกระทบจุดฟันหลอที่พนังกั้นน้ำต่ำ
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า สั่งการให้โครงการชลประทานทุกแห่งในลุ่มน้ำมูลเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนและน้ำท่าอย่างใกล้ชิดเนื่องจากศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) คาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 18 – 24 กันยายน 2565 บริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบนจะมีฝนตกหนัก ซึ่งจะทำให้มีน้ำไหลผ่านเขื่อนราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษเพิ่มขึ้น อยู่ในเกณฑ์ 1,400 – 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากนั้นจะไหลต่อไปยังเขตอำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานีในเกณฑ์ 2,600 – 2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำสูงขึ้นประมาณ 40 – 60 เซนติเมตรตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน
ดังนั้นกรมชลประทานจึงเตรียมพร้อมลดผลกระทบด้านท้ายน้ำ โดยเร่งเดินเครื่องผลักดันน้ำ 140 เครื่องเต็มกำลังเพื่อเพิ่มอัตราการไหลของน้ำแม่น้ำมูลออกสู่แม่น้ำโขง เป็นการพร่องน้ำในลำน้ำให้พร้อมรองรับน้ำที่จะไหลมาเพิ่ม เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำสำหรับสูบน้ำที่ล้นตลิ่งบริเวณจุดฟันหลอซึ่งพนังกั้นน้ำต่ำ กลับสู่แม่น้ำมูล รวมถึงจัดจราจรลุ่มชี-มูลไม่ให้น้ำปริมาณมากที่ระบายจากลำน้ำชีมาถึงจุดบรรจบลำน้ำมูลในเขตอำเภอเมืองอุบลราชธานีในห้วงเวลาเดียวกัน
นอกจากนี้ยังเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงซึ่งมีน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมขังก่อนหน้านี้ที่อาจขยายวงกว้างขึ้นทั้งในลุ่มน้ำชีและมูลจากฝนที่ตกเพิ่มขึ้นในห้วงเวลาดังกล่าว โดยคาดว่า จะมีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน ตามประกาศของกอนช. ดังนี้
1. ลุ่มน้ำชี
1.1 จังหวัดกาฬสินธุ์ บริเวณอำเภอกมลาไสย กุฉินารายณ์ ฆ้องชัย เมืองกาฬสินธุ์ ยางตลาด และร่องคำ
1.2 จังหวัดขอนแก่น บริเวณอำเภอโคกโพธิ์ไชย ชนบท บ้านแฮด พระยืน มัญจาคีรี แวงน้อย และแวงใหญ่
1.3 จังหวัดชัยภูมิ บริเวณอำเภอคอนสวรรค์ เนินสง่า และเมืองชัยภูมิ
1.4 จังหวัดนครราชสีมา บริเวณอำเภอแก้งสนามนาง และบ้านเหลื่อม
1.5 จังหวัดมหาสารคาม บริเวณอำเภอกันทรวิชัย โกสุมพิสัย และเมืองมหาสารคาม
1.6 จังหวัดยโสธร บริเวณอำเภอค้อวัง คำเขื่อนแก้ว มหาชนะชัย และเมืองยโสธร
1.7 จังหวัดร้อยเอ็ด บริเวณอำเภอจังหาร เชียงขวัญ ทุ่งเขาหลวง ธวัชบุรี พนมไพร โพธิ์ชัย โพนทอง เมยวดี เมืองสรวงสุวรรณภูมิ เสลภูมิ และอาจสามารถ
1.8 จังหวัดศรีสะเกษ บริเวณอำเภอกันทรารมย์
1.9 จังหวัดอุบลราชธานี บริเวณอำเภอเขื่องใน และเมืองอุบลราชธานี
2. ลุ่มน้ำมูล
2.1 จังหวัดนครราชสีมา บริเวณอำเภอชุมพวง ลำทะเมนชัย และเมืองยาง
2.2 จังหวัดบุรีรัมย์ บริเวณอำเภอแคนดง และสตึก
2.3 จังหวัดสุรินทร์ บริเวณอำเภอชุมพลบุรี ท่าตูม และรัตนบุรี
2.4 จังหวัดศรีสะเกษ บริเวณอำเภอบึงบูรพ์ ห้วยทับทัน ราษีไศล เมืองศรีสะเกษ และกันทรารมย์
2.5 จังหวัดอุบลราชธานี บริเวณอำเภอเมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ เขื่องใน และสว่างวีระวงศ์
ทั้งนี้ย้ำให้เตรียมพร้อมเต็มที่ตามแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก ด้วยการเตรียมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่า จะได้รับผลกระทบให้พร้อมรับสถานการณ์.-สำนักข่าวไทย