ทำเนียบรัฐบาล 8 มี.ค.-ศบค.ย้ำทุกสถานศึกษาคุมเข้มการสอบทุกระดับ ป้องกันโควิดระบาด ย้ำแม้ผ่อนคลายแล้ว ประชาชนต้องระวังแพร่ระบาดใหม่
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด 19 วันนี้ (8 มี.ค.) เพิ่มขึ้น 71 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 26,441 ราย หายป่วยแล้ว 25,777 ราย รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 579 ราย ผู้เสียชีวิตสะสมรวม 85 คน ผู้ป่วยยืนยันสะสมรอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 – 8 มีนาคม 2564 จำนวน 22,204 ราย โดยผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น 71 ราย เป็นผู้ที่ติดเชื้อในประเทศ 48 ราย เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและบริการ 41 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 7 ราย
“เป็นผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศ 23 ราย เดินทางมาจากเดนมาร์ก 1 ราย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 10 ราย อิตาลี 1 ราย ปากีสถาน 1 ราย เลบานอน 1 ราย สหราชอาณาจักร 4 ราย สหรัฐอเมริกา 2 ราย บาห์เรน 2 ราย และสาธารณรัฐแซมเบีย 1 ราย ซึ่งผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศหลายคนไม่แสดงอาการ และพบการติดเชื้อเมื่อเข้าอยู่ใน state quarantine แล้ว 4-5 วัน แสดงให้เห็นถึงมาตรการคัดกรองเชิงรุกของประเทศไทยที่มีมาตรฐานและเข้มงวด” ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าว
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ที่จังหวัดสมุทรสาคร มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 40 ราย เป็นผู้ติดเชื้อจากระบบบริการ 34 ราย จัดการคัดกรองเชิงรุก 6 ราย ทั้งนี้ สถานการณ์ผู้ติดเชื้อทั่วประเทศเริ่มลดลงแล้วมี 7 จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อ
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า ขณะที่สถานการณ์ผู้ที่ติดเชื้อทั่วโลก 118 ล้านราย เสียชีวิตสะสมทั่วโลก 2.6 ล้านคน ประเทศที่จํานวนผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 29.6 ล้านราย ตามด้วยอินเดีย 11.2 ล้านราย บราซิล 11 ล้านราย รัสเซีย 4.3 ล้านราย สหราชอาณาจักร 4.2 ล้านราย ส่วนประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 115
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคมเป็นต้นไป จะเป็นช่วงการสอบของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่จะสอบ GAT/ PAT จำนวน 157,274 คน และวิชาสามัญ 175,003 คน ONET 387,139 คน ซึ่งจะต้องทบทวนมาตรการที่สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด19 โดยประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อบริหารจัดการสนามสอบให้มีมาตรฐานเดียวกัน ทั้งขั้นตอน กระบวนการอย่างละเอียด รองรับพ่อแม่ผู้ปกครองที่มารอบุตรหลานระหว่างสอบด้วย เพราะสนามสอบแต่ละแห่งหากมีผู้เข้าสอบหลักร้อยถึง 1,000 คน โดยกระทรวงศึกษาธิการได้หารือกับกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการให้มีมาตรฐาน ไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อ เช่น การจัดห้องสอบต้องมีนักเรียนเข้าสอบห้องละไม่เกิน 30 คน
ผู้ช่วยโฆษกศบค. กล่าวว่า ที่ประชุมศบค.ชุดเล็กหารือการกำหนดมาตรการผ่อนคลายในภาคส่วนอื่น ๆ ด้วย โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานศบค.เน้นย้ำให้ศบค.ชุดเล็กเตรียมเสนอมาตรการผ่อนคลายให้มากขึ้นในวันที่ 15 มีนาคมที่จะถึงนี้ โดยกำหนดเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก 1 เม.ย. การนับจำนวนผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนทั้งประเทศ โดยอาจเสนอปรับพื้นที่ปรับสีในแต่ละจังหวัด เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนผู้ที่ฉีดวัคซีน ส่วนชาวต่างประเทศที่จะเดินทางเข้ามาประเทศไทย จะผ่อนคลายกระบวนการที่จะเดินทางเข้าสู่ราชอาณาจักร รวมถึงกำหนดมาตรการกักตัว (quarantine)
“อาจเสนอให้ใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินถึงวันที่ 31 พ.ค. แต่จะยังคงพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 โดยอาจเสนอใช้ในระยะที่ 2 คือ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนเป็นต้นไป ส่วนการผ่อนคลายระยะที่ 3 น่าจะช่วงวันที่ 1 ตุลาคม อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขย้ำว่าจะต้องรอวัคซีนพาสปอร์ตที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลกที่ออกโดยองค์การอนามัยโลกก่อน แต่ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศกำลังดำเนินการเกี่ยวกับการออกใบรับรองสำหรับผู้ได้รับวัคซีนแล้ว สามารถเสนอดำเนินการได้ทันที หากมีวัคซีนพาสปอร์ตที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลกแล้ว จะได้ปรับเปลี่ยนให้ตรงกับมาตรฐานโลกได้ทันที ทั้งนี้ มาตรการผ่อนคลายต่าง ๆ จะต้องสอดคล้องกับการเตรียมวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ” พญ.อภิสมัย กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับเทศกาลสงกรานต์ปีนี้หลายพื้นที่เริ่มผ่อนคลายแล้ว หวังว่าเทศกาลสงกรานต์จะผ่านไป โดยที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่เพิ่มขึ้น ซึ่งทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันไม่ให้ตัวเลขเพิ่มขึ้น หลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ผ่านพ้นไปแล้ว โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬากำลังทำงานอย่างหนัก ขอให้ประชาชนวางแผนเดินทางท่องเที่ยวอย่างไรให้ปลอดภัย ปลอดโรค เพราะเราจะต้องอยู่กับโรคโควิด19 ไปอีกระยะ ซึ่งศบค.ยังอยากเห็นตัวเลขแบบนี้ ดังนั้น สิ่งสำคัญจะต้องร่วมมือกัน.-สำนักข่าวไทย