เชียงใหม่ 2 ก.ค.-เครื่องบินที่บรรทุก พลายศักดิ์สุรินทร์ ถึงสนามบินเชียงใหม่แล้ว เมื่อเวลา 14.03 น. “วราวุธ” เผยเบื้องต้นช้างอยู่ในความสมบูรณ์ ไม่หงุดหงิด
เครื่องบินขนส่ง แบบ Ilyushin IL-76 (อิลยูชิน อิล-76) ที่พลายศักดิ์สุรินทร์ พร้อมควาญช้าง 4 คน สัตวแพทย์ 2 คน ลงจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ในเวลา เมื่อเวลา 14.03 น. ตามเวลาท้องถิ่นประเทศไทย หลังเดินทางออกจากท่าอากาศยานนานาชาติ กรุงโคลอมโบ ประเทศศรีลังกา เวลา 07.30 น. โดยใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมงกว่า
ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า จากการสอบถามนักบิน ทีมแพทย์ที่ประเมินสุขภาพ พลายศักด์สุรินทร์ เบื้องต้นแจ้งมาว่าช้างอยู่ในความสมบูรณ์ ไม่ได้มีอาการหงุดหงิด หรือมีปัญหาที่น่าเป็นห่วงกังวล ทันทีที่ถึงไทยทางแพทย์จะไปดูแลพูดคุยกับควาญช้าง ถ้าทุกอย่างเป็นไปด้วยดีจะพา พลายศักด์สุรินทร์ ขึ้นรถเทรลเลอร์ ไปที่สถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ฯ จังหวัดลำปาง
นายวราวุธ กล่าวว่าวิธีที่ปลอดภัยที่สุดคือต้องให้ควาญช้างที่ศรีลังกาเดินทางมาด้วย และให้อยู่กับ พลายศักด์สุรินทร์ ที่ลำปางจนถึงวันที่ 7 กรกฎาคม
ทั้งนี้ขอขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศที่ดำเนินการอำนวยความสะดวกในภารกิจนำช้างพลายศักด์สุรินทร์กลับไทยครั้งนี้ด้วย
สำหรับประวัติของ “พลายศักดิ์สุรินทร์” นั้น รัฐบาลไทยส่งมอบให้ประเทศศรีลังกา เพื่อเป็นทูตสันถวไมตรี เมื่อปี 2544 พร้อมกับ “พลายศรีณรงค์” ตามที่ประเทศศรีลังกา ร้องขอ เพื่อนำไปฝึกใช้ในการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในงานแห่พระธาตุเขี้ยวแก้ว ซึ่งเป็นงานใหญ่ประจำปีของศรีลังกา ที่มีการจัดอย่างต่อเนื่องมากว่า 270 ปี โดย “พลายศักดิ์สุรินทร์” นับเป็นช้างเชือกที่ 3 ที่ไทยส่งให้ศรีลังกาไปเป็นทูตสันถวไมตรี ต่อจาก “พลายประตูผา” ที่เป็นเชือกแรกเมื่อปี 2523
ทั้งนี้ “พลายศักดิ์สุรินทร์” เป็นช้างที่มีคชลักษณ์โดดเด่นตรงตามความต้องการของศรีลังกาเพื่อใช้ในงานแห่พระธาตุเขี้ยวแก้ว ซึ่งหลังจากถูกส่งไปอยู่ศรีลังกา รัฐบาลศรีลังกาได้โอนกรรมสิทธิ์ช้างเชือกนี้ให้กับ “วัดคันเดวิหาร” (Kande Vihara) เป็นผู้รับช่วงดูแลต่อ เพื่อให้ทำหน้าที่ในขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุในงานแห่พระธาตุประจำปีของศรีลังกา ซึ่งมีเฉลี่ย 30 ครั้งต่อปี โดยต่อมาปี 2565 มีการร้องเรียนและตรวจสอบพบว่า “พลายศักดิ์สุรินทร์” ถูกใช้งานอย่างหนักและมีสภาพความเป็นอยู่ย่ำแย่ รวมทั้งจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเร่งด่วน จึงนำไปสู่กระบวนการให้ความช่วยเหลือและนำตัวกลับมารักษาที่ประเทศไทยในที่สุด.-สำนักข่าวไทย