ปราจีนบุรี 3 ม.ค. – กรมอุทยานฯ ระดมกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 200 นาย จับย้ายช้างป่าเกเรที่ออกมารบกวนประชาชนในอำเภอกบินทร์บุรี กลับเข้าสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน โดยปฏิบัติการตลอดทั้งคืน จนภารกิจลุล่วงก่อนรุ่งสาง โดยยังคงจัดชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่าคอยเฝ้าระวังช้างโขลงออกมากินพืชผลของราษฎรอย่างต่อเนื่อง
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้บัญชาการเหตุการณ์จับย้ายช้างที่ซึ่งมีศูนย์บัญชาการส่วนหน้าที่วัดคลองตามั่น ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ตามข้อสั่งการของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ให้เร่งช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากช้างที่ออกนอกป่ามาทำร้ายจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ รวมถึงทำลายพืชผลของประชาชน โดยมีนายก้องเกียรติ เต็มตำนาน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 ศรีราชา (สบอ.2) และนายยศวัฒน์ เธียรสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (สบอ.1) ปราจีนบุรี พร้อมผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมวางแผนปฏิบัติการ
กรมอุทยานฯ ระดมกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 200 นาย ประกอบด้วย ทีมสัตวแพทย์และสัตวบาล 11 นาย ทีมวิเคราะห์สำรวจพื้นที่ และทีมชักลากขาช้าง 100 นาย จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 และ 2 นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในพื้นที่ได้แก่ ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบลเขาไม้แก้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านโปร่งสะเดา ร่วมในปฏิบัติการครั้งนี้ด้วย
การปฏิบัติการเริ่มขึ้นตอนกลางคืนตามแผนการดำเนินการที่วางไว้ 4 ขั้นตอน เริ่มจากการสำรวจพื้นที่เพื่อค้นหาและระบุตัวช้างป่า จากนั้นทีมสัตวแพทย์จะวางยาซึมช้าง แล้วให้ทีมชักลากเข้าชักลากขาช้าง ร่วมกับเจ้าหน้าที่อีกชุดหนึ่งที่คอยช่วยเหลือในการใช้แขนและบุ้งกี๋ของรถแบ็กโฮคอยประคองช้างขึ้นรถบรรทุก จากนั้นจะขนย้ายไปปล่อยในป่าลึกในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยปฏิบัติการตลอดคืนและภารกิจลุล่วงในเวลา 05.15 น. ช้างฟื้นตัวจากยาซึมดีและปลอดภัย
อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า สั่งการให้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่จาก สบอ. 1 และ สบอ. 2 รวม 100 นาย จัดชุดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและผลักดันช้างป่าที่ออกมาทำลายพืชผลของราษฎรนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ให้กลับเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน รวมถึงเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงเพื่อไม่ให้ช้างออกมาเพิ่มเติม
นอกจากนั้นประสานผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ให้พื้นที่ที่มีการมีปัญหาเกี่ยวกับช้างป่าสามารถเผาไร่อ้อยได้เพื่อลดความเสี่ยงจากการถูกช้างทำร้าย ซึ่งจะอนุญาตให้เผาเฉพาะแปลงที่รถตัดเข้าไม่ได้ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดจะมอบหมายให้นายอำเภอมาทำความเข้าใจกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในพื้นที่ก่อนดำเนินการ ซึ่งจะมีการชุดอาสาสมัครเฝ้าระวังและควบคุมให้ไฟอยู่ในวงจำกัด
ความพยายามที่จะผลักดันช้างกลับเข้าป่าอนุรักษ์ดำเนินการต่อเนื่องมาหลายวัน หลังจากมีชาวบ้านถูกช้างทำร้ายเสียชีวิตกลางไร่อ้อยช่วงกลางเดือนธันวาคม โดยกลุ่มช้างป่าที่มีกว่า 40 ตัว หลบพักอาศัยบริเวณป่าสะเดาซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 700-800 ไร่ เจ้าหน้าที่จึงออกติดตามทั้งด้วยการเดินสะกดรอยตีนช้างและใช้โดรนบินตรวจหาตัวช้างในป่าเพื่อผลักดันกลับเข้าเขตป่าอนุรักษ์ ช้างป่าที่มาหลบบริเวณป่าสะเดาแบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งมีกว่า 20 ตัวและอีกกลุ่มกว่า 10 ตัว เมื่อเจ้าหน้าที่นำกำลังผลักดัน จะมีบางตัวแตกฝูงออกไป ช้างกลุ่มใหญ่จะเดินวกไปวนมาเพื่อกลับมาหลบที่ป่าสะเดาเช่นเดิมจึงไม่สามารถผลักดันให้มุ่งหน้าไปทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนได้ บางคืนมีช้างออกจากป่ามาสมทบทำให้จำนวนช้างแต่ละกลุ่มเพิ่มขึ้นอีก ตลอดจนยังมีอุปสรรคคือ ช้างปรับตัวไม่กลัวเสียงที่เจ้าหน้าที่ชุดผลักดันพยายามทำให้เกิดเสียงดัง อีกทั้งการเดินสะกดรอยช้างในป่าสะเดาซึ่งมีเนื้อที่ 700 – 800 ไร่ เป็นเวลาต่อเนื่องหลายวันส่งผลให้อ่อนล้า
ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ รายงานว่า ปัจจุบันการแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่ารบกวนประชาชน จะมีเจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็วเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า 86 ชุดและอยู่ระหว่างยื่นคำขอเพิ่มเติมอีก 98 ชุดเพื่อปฏิบัติการเฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยงซึ่งมีช้างออกนอกพื้นที่จำนวนมาก
นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มประสิทธิภาพชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า ด้วยการจ้างเจ้าหน้าที่ชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า 297 อัตรา พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์ประจำชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า 100 ชุด ประกอบด้วย อากาศยานไร้คนขับพร้อมกล้องตรวจจับความร้อนและระบบสื่อสาร กล้อง thermal แบบส่องกลางคืน เครื่องรับส่งวิทยุชนิดมือถือ กล้อง action camera โทรโข่ง ไฟฉาย เป้สนาม เป็นต้น รวมถึงฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่าอีก 30 รุ่น และฝึกอบรมเครือข่ายชุมชนเฝ้าระวังช้างป่าและสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ 214 เครือข่าย รวม 30 รุ่น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน
ทั้งนี้ เครือข่ายเฝ้าระวังช้างป่าและสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ เป็นแนวทางสำคัญในการลดความรุนแรงและความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ที่ผ่านมาได้มีการจัดชุดผลักดันช้างป่าและเครือข่ายชุมชนรอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีปัญหาระหว่างคนกับช้างป่าในปีงบประมาณ 2567 มีจำนวน 214 เครือข่าย ตั้งเป้าหมายให้ในปีงบประมาณ 2568 เพิ่มขึ้นเป็น 227 เครือข่าย. -512 – สำนักข่าวไทย