กรุงเทพฯ 4 ก.ย. – อธิบดีกรมชลประทานสั่งสำนักงานชลประทานที่ 7 เตรียมเครื่องสูบน้ำให้พร้อมช่วยสูบระบายน้ำที่ล้นตลิ่งจากลำน้ำอูนเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม 3,310 ไร่ โดยพื้นที่ดังกล่าวซึ่งเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ย้ำทันทีที่ระดับน้ำลำน้ำอูนลดลงกลับเข้าสู่ระดับตลิ่ง ให้เร่งระบายออกลำน้ำสงครามที่จะไหลลงสู่แม่น้ำโขงต่อไป
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า สำนักงานชลประทานที่ 7 เตรียมพร้อมเข้าช่วยสูบระบายน้ำที่ล้นตลิ่งลำน้ำอูนเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ อ. ศรีสงคราม จ. นครพนมอย่างเต็มที่ โดยโครงการชลประทานนครพนมระดมเครื่องสูบน้ำไว้สูบระบายน้ำที่ท่วมขังออกทันทีที่ระดับน้ำลำน้ำอูนลดลงจนกลับเข้าสู่ระดับตลิ่ง
สำหรับสาเหตุที่น้ำจากลำน้ำอูนล้นตลิ่งเนื่องจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนมู่หลานทำให้ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณต้นน้ำของแม่น้ำสงครามซึ่งอยู่ตอนบนของประตูระบายน้ำน้ำอูนและในประเทศลาว ประกอบกับระดับน้ำในแม่น้ำโขงยกสูงขึ้น 1-2 เมตรเพราะเขื่อนไซยะบุรีในประเทศลาวระบายน้ำเพิ่มตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ออกประกาศแจ้งเตือนก่อนหน้านี้
สำหรับลำน้ำอูนมีต้นน้ำจากเขื่อนน้ำอูนซึ่งไหลลงลงลำน้ำสงครามบริเวณอ. ศรีสงคราม จ.นครพนม ส่วนลำน้ำสงครามมีต้นน้ำจากจ. อุดรธานีซึ่งไหลลงแม่น้ำโขงที่อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ตลอดความยาวของลำน้ำสงครามไม่มีอาคารชลประทาน
จากอิทธิพลของระดับน้ำแม่น้ำโขงที่สูงขึ้นหนุนให้ระดับน้ำลำน้ำสงครามยกตัวสูงขึ้นตามและระบายน้ำออกลำบาก จากนั้นส่งผลให้ระดับน้ำในลำน้ำอูนบริเวณเหนือประตูระบายน้ำน้ำอูนยกตัวสูงขึ้นด้วย ก่อนหน้านี้โครงการชลประทานนครพนมได้เตรียมพร้อมโดยแขวนบานระบายทั้งหมดเพื่อเร่งระบายน้ำแล้วตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. แต่ฝนตกโดยตลอด อีกทั้งระดับน้ำแม่น้ำโขงยังสูงอยู่จึงทำให้น้ำไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำทั้ง 2 ฝั่งลำน้ำอูนในต. บ้านเอื้องและท่าบ่อสงคราม อ. ศรีสงคราม 3,310 ไร่
ทางจังหวัดนครพนมไม่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบอุทกภัยเนื่องจากเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ขณะนี้เกษตรกรไม่ได้ทำนาปีเพราะจะรอให้น้ำที่ท่วมบริเวณนี้ลดลงก่อน แล้วค่อยนาปรังประมาณเดือนพ.ย. ของทุกปี
ปัจจุบันระดับน้ำโขงและลำน้ำสงครามเริ่มลดระดับลงประมาณวันละ 15 – 20 เซนติเมตร มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง คาดว่า จะทำให้ระดับน้ำลำน้ำอูนกลับเข้าสู่ระดับตลิ่งภายในสัปดาห์หน้า จากนั้นโครงการชลประทานนครพนมจะนำเครื่องสูบน้ำที่เตรียมไว้เร่งสูบระบายน้ำที่ท่วมขังและไม่สามารถระบายออกตามธรรมชาติได้ทันที โดยระหว่างน้ำกำชับให้เข้าช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่.-สำนักข่าวไทย