กรุงเทพฯ 23 เม.ย.- เทวัญ” ระบุการจัดตั้งโรงทานต้องแจ้งเจ้าคณะจังหวัด ยึดแนวทาง มส.-พศ. จัดระเบียบ เน้นระยะห่างเพื่อป้องกันโควิด-19 ไม่บังคับทุกวัดต้องตั้งโรงทาน ขึ้นอยู่กับศักยภาพ เผยแผนรับพระกลับจากอินเดีย
นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่วัดระฆังโฆสิตาราม เพื่อติดตามการบริหารจัดการของโรงทาน ตามพระดำริของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ให้จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบความยากลำบากในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19
นายเทวัญ ให้สัมภาษณ์ว่า ทางวัดระฆังได้ตั้งโรงทาน และดำเนินการจัดระเบียบตาม มติของสำนักงานพระพุทธศาสนาร่วมกับมหาเถรสมาคม ในเบื้องต้นวัดที่จัดตั้งโรงทาน ขึ้นอยู่กับศักยภาพของแต่ละวัด ซึ่งแต่ละวัดมี ศักยภาพไม่เท่ากัน เพราะบางวัดก็ใกล้กับชุมชน บางวัดห่างไกล เบื้องต้นมีการตั้งโรงทานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขณะนี้มีประมาณ 300-400 วัด ทั้งนี้วัดไหนจัดตั้งโรงทานจะต้องแจ้งเจ้าคณะจังหวัด และการเปิดโรงทานจะต้องยึดตามระเบียบ ส่วนกรณีที่หลายวัดในขณะนี้ ไม่มีญาติโยมมาทำบุญ ไม่ได้ออกบิณฑบาต ไม่มีกิจนิมนต์ เพราะผลกระทบจากโควิด-19 ทาง มส.ก็กำลังดำเนินการช่วยเหลือ
“ตามระเบียบ มส.ประชาชนที่มารับอาหารจากโรงทาน ในแต่ละวันจะมารับไป โดยไม่มีการทานที่วัด และต้องจัดระเบียบ ท่านที่มาจะได้หน้ากาก วัดอุณหภูมิ เจล ล้างมือ และได้อาหารกลับไปรับประทาน ส่วนเรื่องมิจฉาชีพรับไปแล้ว
ไม่เอาไปแจกนั้น เราไม่ได้กังวล เพราะไม่ได้แจกจำนวนมาก” นายเทวัญกล่าว
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงกรณีที่พระจะกลับจากประเทศอินเดีย ในวันที่ 24 และ 25 เมษายนนี้ ซึ่งทั้ง 2 วันจะมีจำนวนใกล้เคียงกัน ยังไม่แน่นอน คือประมาณ 170 เบื้องต้นจะประกอบไปด้วยพระสงฆ์ 130 รูป แม่ชี 20 คน และญาติธรรม 30 คน ทั้งนี้ทางคณะกรรมการได้หารือกับสำนักพระพุทธศาสนา และ มหาเถรสมาคมแล้ว ในกรณีที่พระจะไปพักหรือจำวัดที่อื่นอาจผิดต่อวินัยสงฆ์ ซึ่งก็มีมติว่าอนุญาตให้พระไปนอนที่อื่นได้ ให้ถือว่าเป็นเขตสังฆาวาสของพระ แต่สถานที่จะเป็นที่ใด อยู่ระหว่างรอยืนยันจากทางกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ แต่ก็ได้เตรียมขั้นตอนหลังจากที่คณะพระสงฆ์เดินทางมาถึงท่าอากาศยานดอนเมือง เมื่อลงเครื่องแล้วจะมีขั้นตอนเช่นเดียวกับคนปกติในการตรวจคัดกรอง ก่อนส่งตัวไปยังที่กักตัว ด้วยการแยก พระสงฆ์ แม่ชี และญาติธรรมไปคนละแห่ง.-สำนักข่าวไทย