บนสื่อสังคมออนไลน์มีการแชร์ว่า อาการของผู้ที่ไปฉีดวัคซีนมาเลือดจะหนืดข้นจนสุดท้ายเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่ได้ และวูบจนถึงขั้นเสียชีวิต จากนั้นแพทย์จะแจ้งว่าหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน จริงหรือ ?
บทสรุป : ไม่จริง ไม่ควรแชร์ต่อ วัคซีนดังกล่าว คาดว่าหมายถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าวัคซีนโควิด-19 ทำให้เลือดจะหนืดข้นจนสุดท้ายเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่ได้ และวูบจนถึงขั้นเสียชีวิต ทั้งนี้ การดำเนินการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้จัดตั้งคณะกรรมการ เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และองค์การอนามัยโลกได้รับรองว่าวัคซีนดังกล่าวสามารถใช้ได้กับทุกประเทศ
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ตรวจสอบพบว่า ข้อมูลเรื่อง “อาการของผู้ที่ไปฉีดวัคซีนมาเลือดจะหนืดข้นจนสุดท้ายเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่ได้ และวูบจนถึงขั้นเสียชีวิต” เป็นข้อมูลที่มักถูกส่งต่อและเผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2566 และเป็นหนึ่งในประเด็นที่ทำให้หลายคนเกิดความกังวล
ตรวจสอบข้อเท็จจริง
ข้อมูลจาก พ.อ.นพ.วิริสสร วงศ์ศรีชนาลัย อายุรแพทย์ โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย พบว่า
ความเป็นไปได้ที่วัคซีนจะทำให้เกิดลิ่มเลือด เป็นไปได้ว่าวัคซีนโควิด-19 บางชนิดอาจกระตุ้นให้เกิดการอักเสบในร่างกาย ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดลิ่มเลือดได้บ้าง แต่ต้องย้ำว่า ความรุนแรงและอัตราการเกิดลิ่มเลือดจากวัคซีนนั้นน้อยกว่าการติดเชื้อโควิด-19 มาก
นอกจากนี้ วัคซีนแต่ละชนิดยังมีผลกระทบที่แตกต่าง โดย วัคซีนเชื้อตาย : มีรายงานการเกิดลิ่มเลือดน้อยมาก ส่วนวัคซีนเทคโนโลยีใหม่ (ไวรัสเวกเตอร์ หรือ mRNA) มีรายงานการเกิดลิ่มเลือดผิดปกติบ้าง แต่พบในอัตราที่ต่ำมาก (ประมาณ 4 ใน 100,000 ราย)
อาจมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดได้ นอกเหนือจากผลกระทบของวัคซีน เช่น
- การอักเสบของหลอดเลือด
- ภาวะเลือดข้น
- โรคประจำตัวบางชนิด เช่น ภูมิแพ้ หรือโรคเลือด
- หลังการผ่าตัด โดยเฉพาะการผ่าตัดกระดูกและข้อ
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด
- ภาวะที่เลือดไม่ไหลเวียน เช่น การนอนติดเตียงนาน ๆ หรือการนั่งเครื่องบินนาน ๆ
และความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือดจากการติดเชื้อโควิด-19 มีโอกาสทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันมากกว่าการฉีดวัคซีนอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากโรคโควิด-19 ทำให้เกิดการอักเสบทั่วร่างกาย (ประมาณ 2-5% ในผู้ป่วยโควิด-19)
การป้องกันการเกิดลิ่มเลือดหากฉีดวัคซีน
– ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ โดยเฉพาะในช่วงก่อนฉีดวัคซีน
หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เช่น กาแฟ เพราะอาจทำให้ปัสสาวะบ่อยและเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำ
หากจำเป็นต้องดื่ม ควรเพิ่มปริมาณน้ำเปล่าให้มากขึ้นเพื่อชดเชย
– หากใช้ยาที่เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะลิ่มเลือด เช่น ยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนบางชนิด
แนะนำให้หยุดยาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนเข้ารับวัคซีน และเริ่มกลับมาใช้ได้หลังฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 2 สัปดาห์
– ผู้มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบของหลอดเลือด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดวัคซีน
ให้แพทย์ประเมินว่าโรคอยู่ในระยะที่ควบคุมได้หรือไม่ และเหมาะสมที่จะฉีดหรือยัง
– สำหรับผู้ที่เพิ่งผ่านการผ่าตัด ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปก่อน
รอจนกว่าร่างกายฟื้นตัว เคลื่อนไหวได้ตามปกติ จึงค่อยเข้ารับวัคซีน
ในระหว่างนั้น แนะนำให้คนใกล้ชิดไปฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในวงรอบตัว
นอกจากนี้ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย ได้เผยแพร่ข้อมูลที่ได้รับการตรวจสอบจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ว่า ข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด ทำให้เลือดข้นหนืดจนเสียชีวิต ด้วยอาการหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เป็นข้อมูลเท็จ เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าวัคซีนโควิด-19 ทำให้เกิดอาการดังกล่าว
ทั้งนี้ การดำเนินการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-9 ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และมีการรับรองโดยองค์การอนามัยโลก สามารถใช้ได้กับทุกประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน
28 พฤษภาคม 2568
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์
สำนักข่าวไทย อสมท
เรียบเรียง โดย นัฐภรณ์ ผลพฤกษา
อ้างอิง
ข่าวปลอม อย่าแชร์! ฉีดวัคซีนโควิด ทำให้เลือดข้นหนืดจนเสียชีวิต ด้วยอาการหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
https://www.antifakenewscenter.com
ชัวร์ก่อนแชร์ : วัคซีนโควิด-19 ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน จริงหรือ ?
https://youtu.be/mmQjB3MgTpI?si=eEViloarOfKElDq6
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter