สำนักข่าวไทย 9 เม.ย..-อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ชี้ อัตราการตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของประเทศต่างๆยัง ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันเป็นสถิติได้ จำเป็นต้องตีความ ตามบริบทของประเทศนั้นๆ
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย ที่มีหลายคนตั้งข้อสังเกต ว่ามีการตรวจได้ครอบคลุม แค่ไหน อย่างไรเมื่อเทียบกับต่างประเทศว่า ในการคิดอัตราส่วนแบบแรกคือ จะใช้ตัวตั้งเป็นจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 หารด้วยจำนวนตัวอย่างสารคัดหลั่งที่ถูกส่งตรวจในห้องปฏิบัติการแล้วนำมาเทียบเป็นอัตราส่วน เปอร์เซ็นต์
แบบที่สองคือเอาจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศเป็นตัวตั้ง หารด้วยจำนวนตัวอย่างสารคัดหลั่งที่ถูกส่งตรวจในห้องปฏิบัติการทำให้ตัวเลขจะแตกต่างกันมาก ขึ้นอยู่กับวิธีการคิด // จำนวนประชากรของประเทศนั้น // จำนวนผู้ป่วยของประเทศนั้น จึงถือเป็น เป็นตัวเลขที่ต้องมีการตีความ เนื่องจากไม่เคยมีการทำสถิติการตรวจเช่นนี้มาก่อน และต้องตีความอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยกตัวอย่างประเทศเกาหลีใต้ที่แม้มีการตรวจมาก พบผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อเทียบกับอเมริกา อิตาลี สเปนที่พบการระบาดเยอะ จะพบ อัตราการตรวจ ของ อเมริกา อิตาลี สเปน เป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่าเกาหลีใต้ เนื่องจาก อเมริกา ใช้วิธีคิดเอาจำนวนประชากรตั้ง หารด้วยจำนวนตัวอย่างที่ส่งตรวจในห้องแลป และประชากรอเมริกา มีมาก จำนวนผู้ติดเชื้อ ก็มีมากเช่นกัน ทำให้เปอร์เซ็นต์การตรวจของ สหรัฐอเมริกา สูงราว 20% ส่วนอิตาลี สเปน ก็มีอัตราการตรวจที่สูงเช่นกัน แต่ไม่ใช่จากจำนวนประชากร ที่มีมาก เหมือนอเมริกาแต่เป็น เพราะมีผู้ติดเชื้อ จำนวนมาก ด้วยเหตุนี้จึงไม่สามารถ นำอัตราการตรวจเชื้อโควิด-19 ของประเทศต่างๆมาเปรียบเทียบกันได้
“ความแตกต่างในการตรวจยังมีอีกเช่นใน เกาหลีใต้ที่ควานหาผู้ป่วยในวงกว้างซึ่ง จะได้ทั้งผู้ป่วยและไม่ป่วย ในปริมาณมาก หรือตรวจ 100คนเจอ1-2 คนเท่านั้น อัตราการตรวจของเกาหลีใต้จึงอยู่ที่ ประมาณ 2% ซึ่งแตกต่างจากอเมริกาที่ เมื่อตรวจ 10 คนจะเจอผู้ป่วย5 คน เพราะป่วยเยอะ ฉะนั้นจึงต้องมีการตีความในบริบทของอัตราส่วนแต่ละประเทศ”
สำหรับประเทศไทยตัวเลขที่สำรวจได้ล่าสุด แม้จะไม่ครอบคลุมทั่วประเทศแต่พอบอกแนวโน้มได้คือประเทศไทยมีอัตราการตรวจหาเชื้อต่อประชากรอยู่ที่ 2.88% ซึ่งใกล้เคียงกับเกาหลีใต้ ตัวเลขนี้หมายความว่าใน 100 ตัวอย่างที่ส่งตรวจในห้องปฏิบัติการจะพบผู้ป่วย 2.88 คน แต่ไม่สามารถเทียบกับอเมริกาได้ ที่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่ส่งตัวอย่างตรวจในห้องปฏิบัติการจะมีอาการแล้วต่างจากในเอเชีย
ส่วนการตรวจแบบ Active case finding หรือการตรวจค้นหาเชิงรุกเป็นกลุ่มก้อนในอนาคต ที่ประเทศไทยกำลังจะเริ่มทำ เพราะเมื่อเรารู้ว่าในพื้นที่ที่มีผู้ป่วยจำนวนมากเช่นภูเก็ต พัทยา ชลบุรี ก็จำเป็นต้องมีการตรวจคัดกรองเชิงรุกในกลุ่มประชากรกลุ่มก้อนนั้นนั้น ตรวจเพื่อขยายหาเคสให้ได้มากที่สุด คล้ายกับเกาหลี ซึ่งการคัดกรองแบบนี้จะมีประโยชน์มาก
ดังนั้นในความเห็นของแพทย์จึงมองว่าการ ตรวจในประชากรจำนวนมากไม่ใช่ประเด็น สู้การนำจำนวนผู้ติดเชื้อหารด้วยจำนวนตัวอย่างที่ส่งตรวจในห้องปฏิบัติการจะเป็นอัตราการตรวจที่ชี้ให้เห็นประสิทธิภาพมากกว่า อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าวต่อว่า ยกตัวอย่างให้เห็นชัดเมื่อตอนโควิด-19 เริ่มมีการระบาดในไทย การตรวจหาเชื้อใน ประชากรทั่วไปก็ไม่ได้เกิดประโยชน์ และไม่มีความหมาย ต่อมาเมื่อคนจีนไม่ได้เข้าไทยแล้วกลายเป็นเชื้อนำเข้ามาจากยุโรป การตรวจคนทั่วประเทศก็ไม่เกิดประโยชน์เช่นกัน ฉะนั้นจึงต้องดูจากข้อมูลของโรคและการระบาดเป็นส่วนประกอบสำคัญ ดูบริบทที่เกิดขึ้นในขณะนั้น .- สำนักข่าวไทย