กทม. 20 มี.ค. – นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้สัมภาษณ์ถึงผลกระทบและอันตรายจากสารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 หากมีผู้สัมผัส จะมีผลสำคัญคือ ทำให้เซลล์ของมนุษย์เกิดความผิดปกติ ส่วนจะเกิดมากน้อยแค่ไหน ขึ้นกับว่ารังสีที่ออกมานั้นรุนแรงแค่ไหน และระยะเวลาที่สัมผัส และวิธีที่สัมผัส เช่น อยู่ห่าง อยู่ใกล้ และสารกัมมันตรังสีแต่ละตัวจะมีคุณสมบัติแตกต่างกันไป ซึ่งรังสีพวกนี้มีทั้งประโยชน์และอันตราย หากนำมาใช้ทางการแพทย์ คือ รังสีรักษา
หากซีเซียม-137 ถูกหลอมไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น หากอยู่ในกระบอก อันตรายแทบไม่มี แต่ถ้าถูกหลอมแล้ว ด้วยความร้อนที่สูงมากจริงๆ อาจไม่ได้เกิดอะไรมาก แต่ที่กลัวคือเศษ ฝุ่น มีสิ่งฟุ้งกระจายล่องลอยไป ก็อาจมีซีเซียมติดไปด้วย และอาจส่งผลได้มากตามสมควร แต่ต้องรอการวัดปริมาณจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ
ในทางการแพทย์ เนื่องจากรังสีซีเซียม-137 ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่เห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งทำให้ไม่ทราบว่าเราจะโดนไปแล้วหรือยัง แต่สามารถวัดปริมาณรังสีในบริเวณใกล้เคียงได้
อันตรายจากซีเซียม-137 ตามระยะเวลาสัมผัส
• หากสัมผัสช่วงสั้นๆ ไม่มีผลต่อร่างกายที่ชัดเจน
• สัมผัสระยะเวลานาน และปริมาณสูงขึ้น จะเกิดผื่นแดงตามผิวหนัง ผมร่วง แผลเปื่อย
• สัมผัสในปริมาณสูงและยาวนาน เกิดพังผืดที่ปอด เกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เกิดต้อกระจก
• หากได้รับรังสีดังกล่าวมากจริงๆ ก็อาจจะเสียชีวิตได้ . – สำนักข่าวไทย
แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่ต้องตกใจ เพราะจะต้องทราบสถานการณ์ให้ชัดก่อนว่า ซีเซียม-137 ฟุ้งกระจายไปมากแค่ไหน มีความเข้มข้น ปริมาณมากน้อยแค่ไหน. – สำนักข่าวไทย