สธ. 18 เม.ย. – อธิบดีกรมวิทย์ฯ ชี้โควิด XBB.1.16 แค่แพร่เร็ว แต่ไม่แรงเท่าเดลตา คาดไม่นานเบียด XBB.1.5 ยัน ATK ใช้ตรวจหาเชื้อได้ตามปกติ เพราะเป็นการตรวจโปรตีนของไวรัส แจงอาการทางคลินิก ตาแดง คันตา ไม่ได้เป็นข้อบ่งชี้ป่วยโควิด เพราะเจอแค่ที่อินเดีย พร้อมแจงทุกวัคซีนยังป้องกันแม้ประสิทธิภาพลดลง
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวอัพเดทสายพันธุ์เชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า ขณะนี้สายพันธุ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่พบอยู่ในตระกูล XBB ซึ่งเป็นการรวมผสมของ 2 สายพันธุ์ ของเชื้อไวรัส แต่ยังอยู่ในตระกูลโอไมครอน โดยสายพันธุ์ที่พบในประเทศไทย ก็เหมือนกับสายพันธุ์ที่ระบาดในทั่วโลก โดยสัดส่วนที่พบเป็น XBB.1.5 ถึง 47.9%, XBB.1.16 พบ 7.6% และ XBB.1.9.1 พบ 4% ส่วนประเทศไทย ขณะนี้พบแนวโน้ม XBB.1.16 เพิ่มมากขึ้น และคาดว่าไม่นานก็จะเบียด XBB.1.5 ซึ่งปัจจุบันประเทศไทย พบการติดเชื้อ XBB.1.5 ถึง 27.5%, XBB.1.16 พบ 10% และ XBB.1.9.1 พบ 15% อย่างไรก็ตาม ต้องมีการจับตาเฝ้าระวังต่อไป เนื่องจากการพบ XBB.1.16 พบผู้ป่วยแล้ว 27 คน ในจำนวนนี้ 22 คน พบในเดือน มี.ค. และ เม.ย. พบ 5 คน และมีผู้เสียชีวิต 1 คน เป็น ต่างชาติอายุ 85 ปี มีโรคร่วม
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ทั้งนี้จากการติดตามสายพันธุ์ย่อย XBB.1.16 พบว่ามีตำแหน่งของการกลายพันธุ์บนโปรตีนหนาม ที่เหมือนกับ XBB.1.5 ที่ F486P ส่วนตำแหน่งการกลายพันธุ์ที่พบ เหมือนกับตำแหน่งของเดลตา ที่ 478 แต่ไม่ได้มีความรุนแรง อย่างไรก็ตามต้องมีการจับตาและเฝ้าระวังต่อไป ส่วนกรณีที่อินเดีย พบอาการทางคลินิกของ XBB.1.16 ได้แก่ คันตา ตาแดง แต่ไม่มีหนองในเด็กนั้น ยังไม่มีรายงานบ่งชี้ว่าต้องมีอาการทางตาเสมอไปถึงจะเป็น XBB.1.16 แต่อาการบ่งชี้สำคัญต้องมีไข้ ทั้งนี้ การตรวจหาเชื้อ XBB.1.16 ยังคงทำได้ด้วยการตรวจ ATK เพราะเป็นการตรวจหาโปรตีนของไวรัส อย่างไรก็ตาม การตรวจหาเชื้อเน้นตรวจเมื่อมีอาการ และต้องเข้าใจธรรมชาติ ATK ว่าสามารถแสดงผลลวงได้
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สำหรับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด ต้องเข้าใจว่า การพัฒนาของวัคซีนตามหลังไวรัส ดังนั้นทุกวัคซีนประสิทธิภาพลดลง แต่ก็ดีกว่าไม่ฉีด ทั้งนี้รวมไปถึงวัคซีนไบวาเรนท์ (Bivalent) ที่รวม 2 สายพันธุ์ของ อู่ฮั่น กับโอไมครอน ก็มีประสิทธิภาพลดลง. -สำนักข่าวไทย