กรมอนามัย 13 พ.ย.-กรมอนามัย แนะผู้เป็นโรคเบาหวานควรกินอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง เน้นควบคุมปริมาณข้าวและผลไม้ พร้อมทั้งหมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมน้ำหนักตัว และระดับน้ำตาล
นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลกและสหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ ได้กำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) เพื่อให้องค์กรสาธารณสุขทั่วโลกเห็นความสำคัญในการป้องกันและควบคุมโรค เบาหวาน แม้โรคเบาหวานจะไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่สามารถยับยั้งการเกิดโรคแทรกซ้อนได้ถ้าคุมระดับน้ำตาลและน้ำหนักตัวได้เป็นอย่างดี ผู้เป็นโรคเบาหวานส่วนใหญ่ จะยังไม่รู้ตัวจนกว่าจะแสดงอาการ เช่น น้ำหนักลด ปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย กินจุบจิบ แผลหายช้า อ่อนเพลีย ชาปลายมือ ปลายเท้า สายตาผิดปกติ ซึ่งเกิดจากน้ำตาลในเลือดสูง
ถ้าปล่อยไว้เป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา อาทิ เบาหวานขึ้นจอประสาทตาจนทำให้ตาบอด มีโปรตีนรั่วในปัสสาวะจนทำให้เป็นโรคไตเสื่อม หลอดเลือดที่ขาเสียหายซึ่งมักเป็นร่วมกับอาการเท้าชานั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดแผลที่เท้าในผู้เป็นเบาหวาน จนบางรายต้องตัดขาและยังทำให้เกิดปัญหากับหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง เมื่อมีการอุดตันหรือแตก ทำให้เกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ครอบครัว และคนใกล้ชิด ทั้งผู้ป่วยและภาครัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเป็นจำนวนมหาศาล
นพ.บัญชา กล่าวต่อว่า การควบคุมอาหารสำหรับผู้เป็นเบาหวานนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก ยาเบาหวาน ที่มีใช้กันโดยทั่วไป สามารถควบคุมน้ำตาลจากอาหารได้เพียง 45 – 60 กรัมต่อมื้อ เมื่อคิดเป็นข้าวสวยจะได้ไม่เกิน 3–4 ทัพพีเท่านั้น ในขณะที่อาหารตามสั่งทั่วไปอาจให้ข้าวมากกว่า 4 ทัพพี ซึ่งมีน้ำตาลมากกว่าที่จะควบคุมได้ การเปลี่ยนข้าวขาวเป็นข้าวกล้อง วุ้นเส้น ขนมปังโฮลวีท หรือธัญพืชไม่ขัดสีนั้น จะมีใยอาหารช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้จริง แต่ยังจำเป็นต้องควบคุมปริมาณเช่นเดียวกับข้าวขาว จึงไม่ควรนำธัญพืชมากินเพิ่มจากข้าว เช่น กินข้าวกับผัดฟักทอง หรือ ข้าวกับผัดวุ้นเส้น เป็นต้น
นอกจากนี้ ควรงดกินน้ำตาลเกินจำเป็น เลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม ผลไม้เป็นอีกแหล่งที่มีน้ำตาลปริมาณสูงมาก จึงควรเลือกชนิดที่ไม่หวานจัด เช่น กล้วย แอปเปิลเขียว หรือฝรั่ง และกินในปริมาณที่เหมาะสม นมจืดนั้นไม่ควรดื่มเกิน 1 แก้วต่อวัน เนื่องจากนมวัวมีน้ำตาลตามธรรมชาติอยู่แล้ว (ประมาณ 12 กรัมต่อแก้ว) เช่นเดียวกับนมไขมันต่ำ พร่องมันเนย หรือนมไม่มีไขมันนั้น กำจัดเฉพาะไขมันในนม น้ำตาลนั้นไม่ได้ลดลง สำหรับนมเปรี้ยวส่วนใหญ่จัดเป็นเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในปริมาณสูงจึงไม่ควรกินทุกวัน
“การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด สามารถลดปริมาณการใช้ยาหรือการ ฉีดอินซูลินได้ ควรออกกำลังกายที่ไม่มีแรงกระแทกหรือมีแรงกระแทกต่ำ เช่น เดิน ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ เลือกความหนัก ของการออกกำลังกายที่เหมาะสม หากรู้สึกหายใจเร็วขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น แต่สามารถพูดคุยได้จนจบประโยคโดยไม่หอบขณะเดินหรือออกกำลังกายแบบอื่น แล้วมีอาการเหนื่อย ให้ลดความเร็วลงหรือหยุดพัก แล้วค่อยเดินต่อ ไม่ควรเปลี่ยนท่าทางอย่างรวดเร็ว ไม่ควรเดินเท้าเปล่า เลือกรองเท้าที่เหมาะสมกับการออกกำลังกาย หมั่นตรวจดูแลสุขภาพเท้าสม่ำเสมอ ไม่ให้เกิดแผล ไม่ควรออกกำลังกายในที่ร้อนจัดหรือชื้น ให้จิบน้ำเป็นระยะ ทุก 10-15 นาที ที่สำคัญควรระวังระดับน้ำตาลในเลือด โดยเฉพาะผู้เป็นเบาหวานที่ใช้ยาฉีดอินซูลิน ควรมีระดับน้ำตาลในช่วง 100 – 250 มิลลิกรัม/เดซิลิตร สำหรับผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป หรือมีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงหรือไขมันในเลือดสูงและผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน จึงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพทุกปี เพื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ถือเป็นการเฝ้าระวังอีกทางหนึ่งด้วย”รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว .-สำนักข่าวไทย