ทำเนียบฯ 8 ต.ค.- “วิษณุ” แจง รมต.ที่เป็น ส.ส.โหวตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณได้ เผย นายกฯ กำชับมาให้ครบทุกคน และคนที่จะเป็น กมธ.ต้องมีเวลา ไม่ใช่เป็นเพื่อความโก้
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วานนี้ (7 ต.ค.) มีรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.หลายคนสงสัยว่า จะสามารถลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ วันที่ 17 ตุลาคม นี้ ได้หรือไม่ จึงได้ทำความเข้าใจว่า ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน รัฐมนตรีที่เป็น ส.ส. สามารถลงได้ แต่โดยมารยาทไม่ควรลงมติในเรื่องที่เป็นส่วนได้ส่วนเสียส่วนตัว เช่น ไม่ควรลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจตัวเอง
“แต่เรื่องการเสนอกฏหมายงบประมาณไม่ได้เป็นเรื่องส่วนได้เสียส่วนตัว จึงได้ทำความเข้าใจกับรัฐมนตรีใน ครม. ที่มีรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.อยู่ 19 คน ว่า สามารถลงมติเรื่องงบประมาณได้เช่นเดียวกับการลงมติในกฏหมายอื่นๆ” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรีได้ขอให้รัฐมนตรีที่เป็น ส.ส. เข้าประชุมให้พร้อมเพรียงกัน หากมีการสอบถามเรื่องของกระทรวงใด จะได้สามารถอภิปรายได้ โดยเฉพาะวาระที่ 1 ส่วน วาระ 2-3 รัฐมนตรีไม่ต้องเข้าไปยุ่ง เนื่องจากเป็นเรื่องของคณะกรรมาธิการ และกำชับว่า ในการแต่งตั้งกรรมาธิการในส่วนของรัฐบาล 15 คน ต้องเป็นคนที่มีเวลาว่าง เพราะจะต้องเข้าร่วมประชุมตลอด แม้จะไม่ได้ทำหน้าที่ประธานหรือรองประธานกรรมาธิการ
“เพราะกรรมาธิการต้องมีการลงมติเป็นรายมาตรา จึงควรมีเวลาว่าง ไม่ใช่ไปเป็นเพื่อความโก้ แต่ต้องนั่งเป็นสิบวัน ถือว่าเป็นการพิจาารณากฎหมายที่ยาวนานที่สุด จึงต้องหาคนที่มีเวลาเป็นหลัก” นายวิษณุ กล่าว
เมื่อถามว่า รัฐสภาได้แจ้งระยะเวลาไว้กี่วัน นายวิษณุ กล่าวว่า รัฐบาลเป็นฝ่ายเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ ในวันที่17 และปิดวันใดวันหนึ่ง คงมีเวลาประมาณ 3-4 วัน ก็ไปแบ่งกันว่า หากวุฒิสภาไม่เอา สภาผู้แทนก็รับไป หากวุฒิสภาจะอภิปราย ก็ให้เผื่อให้วุฒิสภวันหรือครึ่งวัน ต้องให้วิปไปตกลงกันเอง อย่างน้อย 2 วัน หากเกินกว่านั้น ก็ต้องเป็นวันเสาร์ วันอาทิตย์
ต่อข้อถามว่า คณะรัฐมนตรีได้รายชื่อกรรมาธิการครบหรือยัง นายวิษณุ กล่าวว่า ได้แค่ 3 คนที่เป็นหลักต้องอยู่ คือ ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ รัฐมนตรีช่วย และปลัด นอกจากนั้นให้แต่ละพรรคไปหา และไม่ต้องส่งมาที่คณะรัฐมนตรี ให้แจ้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ แล้วไปประสานกับวิป และไม่จำเป็นต้องเป็นรายชื่อของกระทรวงเศรษฐกิจเท่านั้น เพราะการเป็นรัฐมนตรีมีข้อเสีย ที่อาจไม่มีเวลาไปนั่งอยู่ในกรรมาธิการ
เมื่อถามว่า หากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ไม่ผ่าน ความรับผิดชอบทางการเมืองกับทางกฏหมายมีผลออย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า หลักของประชาธิปไตยในระบบของรัฐสภา ถือว่ารัฐสภาเป็นใหญ่ หากเสียงข้างมากไม่ไว้วางใจรัฐบาล รัฐบาลก็ไม่ควรอยู่ต่อไป การไม่ไว้ใจมี 2 แบบ คือ เปิดเผย ทำโดยลงมติไม่ไว่วางใจ และการไม่ไว้วางใจโดยปริยาย คือ การที่รัฐบาลเสนอกฏหมายสำคัญเข้าสู่สภาฯ แต่รัฐสภาไม่ผ่านให้ ไม่ยอมให้เครื่องมือรัฐบาลไปทำงาน รัฐบาลก็ไม่ควรต้องอยู่ รัฐบาลต้องลาออก หรือยุบสภาแล้วไปเลือกตั้งให้ประชาชนตัดสินใจ . – สำนักข่าวไทย