พปชร. 9 มิ.ย.-“สัณหพจน์” แนะใช้สภาฯ หาทางออก ตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษา ปม“ประชามติแยกดินแดนปาตานี” ชี้การออกกฎหมายบริหารจัดการพื้นที่จชต.ต้องไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ความรู้สึกประชาชนทั้งประเทศ
นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง รองเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่งานเปิดตัว ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ ( Pelajar Kebangsaan) เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมาที่คณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี โดยจัดกิจกรรมปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “การกำหนดอนาคตตนเอง (Self Determination) กับสันติภาพปาตานี” และจัดพิมพ์บัตรลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย ว่า ในฐานะที่เคยเป็นผู้ยื่นเสนอญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาเขตการปกครองรูปแบบพิเศษพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ จึงมองว่าเรื่องดังกล่าวควรที่จะศึกษาให้ละเอียดถี่ถ้วน สิ่งสำคัญคือการออกกฎหมายเพื่อให้บริหารจัดการพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและความรู้สึกของประชาชนทั้งประเทศ
นายสัณหพจน์ กล่าวว่า สำหรับการเสนอให้มีกมธ.เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว เป็นการให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ด้วยสันติวิธีที่เป็นรูปธรรม ซึ่งอาจมีลักษณะการบริหารจัดการในรูปแบบของ กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ที่จัดให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารพื้นที่โดยประชาชนในพื้นที่เอง
“การบริหารจัดการรูปแบบพิเศษในพื้นที่ จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ซึ่งประชาชนในพื้นที่จะเป็นผู้กำหนดและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ของตัวเอง แต่จะต้องศึกษาอย่างรอบด้าน ผมจึงเห็นสมควรที่จะเสนอให้จัดตั้งกมธ. เพื่อพิจารณาศึกษาในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณาควบคู่กัน เช่น เรื่องเชื้อชาติ ศาสนา อัตลักษณ์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ทัศนคติ และความเชื่อของท้องถิ่น” นายสัณหพจน์ กล่าว
นายสัณหพจน์ กล่าวว่า ส่วนประเด็นกฎหมายรองรับ เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยมีเพียงกฎหมายการปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น กทม.และเมืองพัทยาที่เราไม่ได้เรียกว่า “เขตปกครองพิเศษ” ซึ่งการกำหนดการบริหารจัดการพิเศษใน 3 จังหวัดภาคใต้ ภายใต้รูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จำเป็นที่จะต้องพิจารณารูปแบบกฎหมายที่จะรองรับ ซึ่งอาจจะต้องพิจารณาแก้ไขกฎหมายหรือเสนอกฎหมายใหม่ขึ้นมา
“ยังมีประเด็นเรื่องของการสร้างค่านิยมที่ผิดในพื้นที่เรื่องการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งจะต้องใช้เวลาปรับเปลี่ยน ทำความเข้าใจร่วมกันระหว่าง ประชาชนในพื้นที่ กลุ่มต่างๆที่มีการเคลื่อนไหว กมธ. และผู้ร่างกฎหมาย รวมทั้งประชาชนทั้งประเทศ เพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง ไม่ใช่การรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ส่วนกลางหรือหน่วยงานบางหน่วยงาน อย่างไรก็ตาม การกระจายอำนาจจะเป็นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการดูแลพื้นที่ของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นการตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยเรื่องดังกล่าวจำเป็นที่จะต้องใช้รัฐสภาเป็นกลไกในการพิจารณากำหนดและออกกฎหมาย” นายสัณหพจน์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย