กรุงเทพฯ 13 ส.ค. – นักวิชาการด้านการเมืองการปกครองจากจีน วิเคราะห์เหตุการณ์ประท้วงในฮ่องกงที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า 2 เดือน และมีผู้ชุมนุมจำนวนมาก นอกจากทางการฮ่องกงไม่ทำตามข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงแล้ว ยังเป็นปัญหาที่สะสมมาตั้งแต่อดีต จากการที่ถูกจีนแทรกแซงในหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องการเมือง
แม้จะผ่านมาแล้วกว่า 60 วัน สำหรับการชุมนุมประท้วงของชาวฮ่องกง จากที่เริ่มต้นจากการเรียกร้องให้ทางการฮ่องกงถอดถอนกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ก็ยังไม่มีทีท่าว่าการชุมนุมครั้งนี้จะจบลงง่ายๆ
รักษาการ ผอ.ศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า การชุมนุมมีแนวโน้มยืดเยื้อออกไปอีก เพราะข้อเสนอที่กลุ่มผู้ประท้วงเสนอต่อทางการยังไม่ได้รับการตอบรับ
5 ข้อที่กลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้อง คือ ให้ทางการเพิกถอนกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน, ให้ทางการหยุดเรียกการประท้วงว่าเป็นการก่อจลาจล, ปล่อยตัวและถอนฟ้องผู้ประท้วงที่ตำรวจจับกุม, ให้มีการตั้งกรรมการสอบสวนอิสระ เพื่อสอบสวนการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และข้อสุดท้าย คือ ให้ทางการฮ่องกงยุบสภา และให้สิทธิชาวฮ่องกงในการเลือกตั้งอย่างเท่าเทียม โดยเมื่อข้อเสนอไม่ได้รับการตอบรับ ทำให้ผู้ชุมนุมบางกลุ่ม เช่น กลุ่มฮาร์ดคอร์เริ่มยกระดับการชุมนุม ตั้งแต่การปิดสถานีรถไฟ และล่าสุดคือ ปิดสนามบินฮ่องกง ทำให้เมื่อวานนี้ (12 ส.ค.) ทุกสายการบินต้องยกเลิกทุกเที่ยวบิน ทั้งขาเข้าและขาออกฮ่องกง
นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องการเมืองการปกครองของจีน ระบุว่า ชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวฮ่องกงลุกฮือครั้งนี้ นอกจากข้อเรียกร้องที่ยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์แล้ว ยังเกิดจากปัญหาในอดีตที่บ่มเพาะมานาน หลังจากอังกฤษส่งเกาะฮ่องกงคืนให้จีน โดยชาวฮ่องกงบางส่วนคิดว่า จีนเริ่มเข้ามาแทรกแซงตั้งแต่อัตลักษณ์และระบบการเมือง เช่น การขึ้นสู่อำนาจของผู้ว่าการเกาะฮ่องกง ต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลปักกิ่งของจีน ทำให้การชุมนุมประท้วงครั้งนี้ไม่ได้หยุดอยู่ที่การให้ทางการทำตามข้อตกลงที่เสนอไว้ แต่ยังขยายไปถึงการให้ปลดปล่อยฮ่องกงพ้นจากเขตอิทธิพลของจีน ซึ่งไม่ได้หมายถึงด้านการเมือง หรือการขึ้นสู่อำนาจของผู้ว่าการเกาะเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงด้านเศรษฐกิจ สังคม และอิทธิพลของจีนด้วย ทำให้กลุ่มอนุรักษ์นิยมมองว่า การชุมนุมครั้งนี้ถือเป็นสัญญาณของการแบ่งแยกดินแดนฮ่องกงออกจากจีน
นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องการเมืองการปกครองของจีน บอกว่า ฮ่องกงเป็นอีกหนึ่งเมืองสำคัญของจีนที่ประกาศยุทธศาสตร์ให้เป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจ ศูนย์กลางทางการเงิน เทคโนโลยี และการบิน นอกจากนี้ ฮ่องกงยังมีความสำคัญกับจีนในแง่การเมือง โดยเฉพาะรูปแบบการปกครอง 1 ประเทศ 2 ระบบ ที่จีนให้อิสระกับฮ่องกงในการบริหารจัดการทุกอย่าง ยกเว้นการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศและทางทหาร ซึ่งรูปแบบการปกครองฮ่องกงแบบนี้ จีนตั้งเป้าจะนำไปใช้กับไต้หวันในอนาคต ทำให้แนวโน้มที่ฮ่องกงจะแยกตัวจากจีนเป็นไปได้ยากมาก และการชุมนุมที่ยืดเยื้อยาวนาน ยังเป็นการเปิดช่องให้ทางการจีนใช้โอกาสนี้ใช้กองกำลังจากกองทัพเข้าสลายการชุมนุม. – สำนักข่าวไทย