ศาลปกครองสูงสุด 21 เม.ย. –ศาลปกครองสูงสุดเตรียมพิพากษาคดีโฮปเวลล์พรุ่งนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันพรุ่งนี้ ( 22 เม.ย.) เวลา
10.00 น. ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีที่ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด
ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลางที่สั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณอนุญาโตตุลาการ
ที่ให้กระทรวงคมนาคม โดยการ รถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท) จ่ายคืนเงินค่าก่อสร้างและค่าใช้จ่ายอื่นๆ
แก่บริษัทโฮปเวลล์รวม 11,888 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
ทำให้
รฟท.ไม่ต้องจ่ายคืนเงินจำนวนดังกล่าว
ซึ่งคดีนี้กระทรวงคมนาคมกับพวกได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางว่า
คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดตามข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ให้
กระทรวงคมนาคมกับพวก คืนเงินค่าตอบแทนและเงินอื่นให้แก่บริษัท โฮปเวลล์
(ประเทศไทย) จำกัด โดยอ้างว่ากระทรวงคมนาคมกับพวก
บอกเลิกสัญญาสัมปทานระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในกรุงเทพมหานคร
และการใช้ประโยชน์จากที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยโดยไม่ชอบ และให้จ่ายคืนเงินค่าก่อสร้างและค่าใช้จ่ายอื่นๆแก่บริษัทโฮปเวลล์รวม 11,888 ล้านบาท ซึ่ง กระทรวงคมนาคมกับพวก
เห็นว่าข้อพิพาทดังกล่าวไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการที่สามารถระงับข้อพิพาททางอนุญาโตตุลาการได้
เนื่องจากมิใช่ข้อพิพาทในการปฏิบัติตามสัญญา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเมื่อ 13
มีนาคม 2557 เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ
ในข้อพิพาทหมายเลขดำที่
119/2557 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551
ลงวันที่ 30 กันยายน 2551 ทั้งหมด
และเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 44/2550 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่
70/2551ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2551 ทั้งหมด
และมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่
119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 กันยายน 2551 เนื่องจากศาลปกครองเห็นว่า
เมื่อคำนวณนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2541
ซึ่งเป็นวันที่ผู้คัดค้านรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทแล้ว
ระยะเวลาของการเสนอข้อพิพาทจะครบกำหนด 5
ปี คือ ในวันที่30 มกราคม 2546 ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า
บริษัทโฮปเวลล์ยื่นข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน
2547 การเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ
จึงเกินกว่ากำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดตามนัยมาตรา 51
แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
และเมื่อระยะเวลาการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเป็นเรื่องสำคัญ ถือได้ว่าเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลปกครองสามารถยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
ดังนั้น ศาลจึงเห็นว่าในกรณีนี้
คณะอนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจรับข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ที่
บริษัทโฮปเวลล์ยื่นต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการไว้พิจารณาเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดได้
การที่คณะอนุญาโตตุลาการรับข้อพิพาทดังกล่าวไว้พิจารณาและต่อมามีคำชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขดำที่
119/2547ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551
และการที่กระทรวงคมนาคมกับพวกยื่นข้อเรียกร้องแย้งเมื่อวันที่ 20 กันยายน
2548
จึงเกินกำหนดระยะเวลาตามนัยมาตรา 51 แห่ง
พ.ร.ป.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ดังกล่าว
เมื่อคณะอนุญาโตตุลาการรับข้อเรียกร้องแย้งของกระทรวงคมนาคมกับพวก ไว้พิจารณา
และต่อมามีคำชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 44/2550 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่
70/2551 จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย
บริษัทโฮปเวลล์ฯจึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุด
ทั้งนี้คดีดังกล่าวคณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่
8 พฤศจิกายน 2551 ให้
รฟท.ต้องคืนเงินชดเชยให้กับบริษัทโฮปเวลล์จากการบอกเลิกสัญญารวมเป็นเงิน 11,888
ล้านบาท โดยไม่รวมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี พร้อมคืนหนังสือค้ำประกันมูลค่า 500
ล้านบาท ที่ออกโดยธนาคารกรุงเทพ
ซึ่งประกอบด้วยเงินที่บริษัทได้ชำระเป็นค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์จากที่ดินของ
รฟท. ถึงก่อนวันบอกเลิกสัญญาเป็นเงิน 2,850 ล้านบาท
รวมถึงเงินค่าออกหนังสือค้ำประกัน 38 บาท และเงินค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านบาท. สำนักข่าวไทย