กทม. 22 ม.ค.- ผู้ทำธุรกรรมการเงินกับธนาคาร และใช้ช่องทางธุรกรรม ผ่านเทคโนโลยีต่างๆ ต้องระวัง เพราะเทคโนโลยี ที่สะดวกสบาย ย่อมมีความเสี่ยง ผู้ใช้จะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ
ช่วงที่ผ่านมาหากติดตามข่าวจะเห็นเกิดเป็นคดีความหลายครั้ง ที่มีผู้ไปแจ้งความดำเนินคดี หลังถูกกลุ่มมิจฉาชีพ หลอกขอข้อมูลส่วนตัว เมื่อให้ไปแล้วข้อมูลครบ มิจฉาชีพก็ทำการโอนเงินออกจากบัญชี เกิดความเสียหายเป็นเงินจำนวนไม่น้อย บางรายมิจฉาชีพ โทรมาหลอก หรือส่งข้อความปลอมข้อความของแอปพลิเคชันแบงก์กิ้งจากธนาคารเข้ามา ส่งถึงลูกค้า แล้วถามว่าจะสมัครออนไลน์ ไดเรค เดบิต หรือไม่ หากลูกค้ากดตอบตกลงสมัคร เงินก็จะโอนไปบัญชีของคนร้ายทันที หรือบางรายคนร้ายติดต่อเข้ามาสอบถามแสดงความสนใจอยากซื้อสินค้าออนไลน์ แล้วหลอกขอข้อมูลบัตรประชาชน เลขที่บัญชี หากให้ไปก็จะโอนเงินออกจากบัญชีได้
เรื่องทั้งหมดนี้ นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่าขณะนี้ กลุ่มมิจฉาชีพเริ่มใช้กลยุทธ์หลอกเอาข้อมูลจากลูกค้าธนาคารพาณิชย์ โดยการส่งอีเมลหลอกให้ป้อนข้อมูลสำคัญ เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว สมาคมธนาคารไทยจะดำเนินการประชาสัมพันธ์ 10 เรื่องที่ลูกค้าธนาคารพาณิชย์ไม่ควรทำ เพื่อป้องกันปัญหาการถูกหลอกลวงจากกลุ่มมิจฉาชีพ เบื้องต้นขอย้ำว่าธนาคารพาณิชย์ไม่มีโนบายที่จะขอรหัสผ่านบัญชีของลูกค้า หมายเลขบัตร หรือขอข้อมูลส่วนตัว หากพบกรณีนี้เกิดขึ้นขอให้ลูกค้าสันนิษฐานไว้ก่อนว่าไม่เป็นเรื่องปกติ
ประธานสมาคมธนาคารไทยย้ำ เพื่อป้องกันถูกหลอกลวง ลูกค้าจะต้องอ่านอีเมลที่ส่งมาก่อนที่จะดำเนินการใดๆ และพิจารณาว่าหลอกเอาข้อมูลหรือไม่ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ ก็มีประเด็นในการให้บริการว่าหากบริการยิ่งมีความสะดวก รวดเร็วเพียงใด โอกาสที่จะเกิดปัญหาจะสูงกว่า แต่ถ้าสะดวกลดลงบ้าง เช่น จะต้องป้อนข้อมูลต่างๆ ป้อนหมายเลขบัตร หรือใส่รหัสผ่านก่อนทำรายการก็จะปลอดภัยมากขึ้น
ส่วนประเด็นเรื่องการใช้เช็คที่มีการแก้ไขบนเช็ค ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป ทางธนาคารจะไม่รับเรียกเก็บเงินให้อีกต่อไป เนื่องจากระบบไม่สามารถตรวจสอบได้และเรื่องนี้ผ่านการหารือกับ ธปท. มาแล้ว และได้มีการประชาสัมพันธ์ไปแล้วก่อนหน้านี้ ยืนยันว่าทางผู้ประกอบการธุรกิจส่วนใหญ่จะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะเช็คที่มีการแก้ไขมีสัดส่วนน้อยเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น ยอมรับว่าปัญหาเช็คปลอมมีบ้าง แต่ทางเจ้าหน้าที่จะระมัดระวังเต็มที่
ยอมรับว่าขณะนี้บางประเทศเลิกใช้เช็คไปแล้ว สำหรับประเทศไทยยังไม่สามารถตอบได้ว่าการโอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดจะใช้เวลานานเท่าใด ปัจจุบันไทยมีการโอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ระดับหนึ่ง มีการลงทะเบียนพร้อมเพย์หลักแสนราย ซึ่งทางสมาคมธนาคารไทยไม่ได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะต้องเพิ่มขึ้นเป็นเท่าใด แต่ทุกธนาคารร่วมมือกันส่งเสริมการใช้การโอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิสก์อย่างต่อเนื่อง เพราะต้องการให้ลูกค้าย้ายเข้ามาใช้ระบบนี้มากขึ้น ภาคประชาชนก็เป็นสังคมไร้เงินสด ซึ่งภาครัฐขณะนี้กรมบัญชีกลางรับและจ่ายเงินกับภาคเอกชนก็เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์แล้ว.-สำนักข่าวไทย