ตามที่มีการแชร์แนะนำว่า ให้ใช้วาสลีน หรือ ปิโตรเลียมเจลลี่ ทาในรูจมูก เพื่อดักจับฝุ่น PM2.5 และเกสรดอกไม้ได้นั้น
บทสรุป : ไม่จริง ❌ ไม่ควรแชร์ต่อ
ฝุ่น PM2.5 มีขนาดเล็กกว่าเกสรดอกไม้ การทาปิโตรเลียมเจลในรูจมูก ไม่ได้มีส่วนช่วยในการดักจับฝุ่นแต่อย่างใด
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ตรวจสอบพบว่า คำแนะนำที่ระบุให้ใช้ “วาสลีน” หรือ ปิโตรเลียมเจลลี่ทาบาง ๆ ในรูจมูกเพื่อดักจับฝุ่นนั้น เป็นคำแนะนำที่มีการเผยแพร่กันตั้งแต่ปี 2563 โดยผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานต่าง ๆ ได้มีการหักล้างข้อมูลดังกล่าว
กรมอนามัย โดย ศูนย์เฝ้าระวังและตอบโต้ความเสี่ยงเพื่อเพิ่มความรอบรู้ด้านสุขภาพ ระดับกระทรวง ระบุว่า “การใช้วาสลีนทาในรูจมูก ไม่ได้ช่วยดักจับสกัดฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย และถ้าใช้ในปริมาณมากอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองได้”
ทั้งนี้ กลไกการออกฤทธิ์ของปิโตรเลียมเจลลี่ คือ ตัวยาจะเคลือบผิวหนังเป็นฟิล์มบาง ๆ ป้องกันผิวหนังมิให้สูญเสียความชื้น รวมถึงช่วยปกป้องไขมันในบริเวณผิวหนัง จึงทำให้ผิวหนังอ่อนนุ่ม คงสภาพที่แข็งแรง ที่รวมถึงการช่วยฟื้นสภาพของผิวหนังให้ดีมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม อาจรบกวนกระบวนการขับของเสียออกจากรูขุมขนที่ผิวหนังและ/หรือจากบาดแผลที่ทาปิโตรเลียมเจลลี่ จึงอาจส่งผลให้เกิดการอุดตันของรูขุมขน และ/หรือ การสมานตัวของแผลช้าลง และ ปิโตรเลียมเจลลี่ อาจทำลายและขัดขวางการสร้างสารคอลลาเจน (Collagen), สารอิลาสติน (Elastin, โปรตีนชนิดหนึ่งที่ช่วยให้ผิวหนังเกิดการยืดหยุ่น) รวมถึงเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของร่างกาย จึงอาจส่งผลให้เซลล์ผิวหนัง แก่ตัวเร็ว
นอกจากนั้นการทาปิโตรเลียม เจลลี่ยังทำให้รู้สึกเหนียวเหนอะหนะ และสามารถทำให้ผิวหนังบริเวณทายาจับสิ่งสกปรก เช่น ฝุ่น แบคทีเรีย ไว้ตามรูขุมขน จนอาจเกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังส่วนที่ทายาได้
ขณะที่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย ได้เผยแพร่เนื้อหาการตรวจสอบประเด็นดังกล่าวเช่นกัน โดยอ้างอิงจากการชี้แจงของ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ระบุว่า “การนำปิโตรเลียมเจลลี่มาทาในรูจมูกเพื่อหวังผลในการดักจับฝุ่น PM 2.5 นั้น ยังไม่มีงานวิจัยรองรับว่าสามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ สำหรับวิธีการป้องกันฝุ่นควรใส่หน้ากากอนามัย ที่สามารถกรองได้อย่างน้อย 95% ขึ้นไปหรือที่เรียกกันว่า N95”
สำหรับข้อความที่ส่งต่อกัน เป็นการแนบลิงก์ไปยังคลิปยูทูบหนึ่ง ขณะที่ข้อมูลที่เคยมีการเผยแพร่เมื่อปี 2563 จะมีลักษณะเป็นแผ่นภาพข้อความซึ่งมีใจความสำคัญคล้ายกัน
12 มีนาคม 2566
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์
สำนักข่าวไทย อสมท
ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
ที่มา
https://hia.anamai.moph.go.th/web-upload/12xb1c83353535e43f224a05e184d8fd75a/202108/m_faq/33605/223/file_download/3f378a21a15d869deff5e2d6713a4ed8.pdf
https://www.pollutionclinic.com/home/faq/faq3-9.html
https://www.antifakenewscenter.com/%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%93%E0%B8%91%E0%B9%8C%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%A1-%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%8A%E0%B8%A3%E0%B9%8C-%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B9%82/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter