กรุงเทพฯ 29 ก.ย.-อธิบดีกรมชลประทาน ระบุสถานการณ์น้ำท่วม จ.นครสวรรค์ จะเริ่มลดลงตั้งแต่พรุ่งนี้ แต่พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาด้านท้ายยังต้องเฝ้าระวังระดับน้ำที่สูงขึ้น จากการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ย้ำโครงการชลประทานทุกแห่งแจ้งเตือนประชาชนและช่วยเหลืออย่างเต็มที่
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า สถานการณ์น้ำที่ท่วมอ. ไพศาลี จ.นครสวรรค์มีแนวโน้มดีขึ้น คาดว่าถ้าไม่มีฝนตกเพิ่ม น้ำจะเริ่มลดลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่พรุ่งนี้ (30 ก.ย.) โดยโครงการชลประทานนครสวรรค์และส่วนเครื่องจักรกล สำนักงานชลประทานที่ 3 ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำเร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่
ทั้งนี้จังหวัดซึ่งอยู่ในลุ่มเจ้าพระยายังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นเนื่อง จากการระบายน้ำพื้นที่ตอนบน โดยแม่น้ำปิงที่ อ.บรรพตพิสัย แม่น้ำน่านที่ อ.ชุมแสง มีระดับสูงขึ้น แต่ยังไม่ล้นตลิ่ง ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาที่ อ.เมืองนครสวรรค์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน จึงกำชับให้โครงการชลประทานทุกแห่งแจ้งเตือนประชาชนทุกระยะ
นายประพิศกล่าวถึงสภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาว่า ปริมาณน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์ยังคงเพิ่มขึ้นกว่าเมื่อวานนี้ เมื่อไหลมาถึงระบบชลประทานเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท รับน้ำเข้าฝั่งตะวันตกและตะวันออก 306 ลบ.ม./วินาที โดยเขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำ 2749 ลบ.ม./วินาที เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้ซึ่งอยู่ที่ 2700 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำในจังหวัดท้ายเขื่อนสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อบริเวณที่อยู่อาศัยริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่นอกคั้นกันน้ำ ได้แก่ บ้านท่าทราย และตำบลโพนางดำ อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท วัดเสือข้าม วัดสิงห์ ตำบลอินทร์บุรี อำเภออินทร์บุรี พรหมบุรี และเมือง จังหวัดสิงห์บุรี คลองโผงเผง วัดไชโย ตำบลเทวราช อำเภอไชโยและป่าโมกข์ จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สำหรับจังหวัดชัยนาทมีพื้นที่ประสบอุทกภัย รวม 6 อำเภอ 14 ตำบล รวม 8,172 ไร่ ซึ่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ใช้ระบบชลประทานในการระบายน้ำออกจากพื้นที่ ระบายน้ำผ่านทางท่อระบายน้ำ (ทรบ.) หนองประดู่และเดินเครื่องสูบน้ำโรงสูบน้ำ ที่บ้านหนองตาตน ต.อู่ตะเภา อ.มโนรมย์ ฝั่งซ้ายของคลองชัยนาท-ป่าสัก เพื่อระบายลงคลองชัยนาท-ป่าสักซึ่งหากปริมาณฝนมีแนวโน้มลดลง จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 5-7 วัน
ส่วนจังหวัดสิงห์บุรี การระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเกินกว่าศักยภาพของลำน้ำในช่วง อ.อินทร์บุรี ทำให้มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 2 อำเภอ ได้แก่ อ.อินทร์บุรีและค่ายบางระจัน ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตร 440 ไร่
ที่จังหวัดอ่างทองมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง ป่าโมกแสวงหา และวิเศษชัย ซึ่งในช่วงที่เขื่อนเจ้าพระยายังคงระบายน้ำเกินกว่า 1,400 ลบ.ม./วินาที จะยังทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำมีน้ำท่วม แต่เมื่อการระบายน้ำท้ายเขื่อนลดลงในอัตราน้อยกว่า 1,400 ลบ.ม./วินาที จะคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ 7-14 วัน
ส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 4 อำเภอ ได้แก่ อ.ผักไห่ เสนา บางบาล และบางไทร โดยท่วมบ้านเรือนประชาชนซึ่งอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ
ทั้งนี้ เมื่อปริมาณน้ำตอนบนลดลง กรมชลประทานจะควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม ล่าสุดกรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า ปริมาณฝนจะเริ่มลดลง จึงจะบริหารจัดการน้ำเพื่อคลี่คลายภาวะน้ำท่วมในจังหวัดลุ่มเจ้าพระยาให้เร็วที่สุด.-สำนักข่าวไทย