กรุงเทพฯ 23 มี.ค.- บอร์ดยานยนต์ประชุมพรุ่งนี้ ปรับแผนเตรียมพร้อมประกาศขายอีวี 100 เปอร์เซนต์ในอนาคตรัเทรนด์โลก ลดปลดปล่อยคาร์บอนฯเป็นศูนย์ พร้อมปรับแผนพลังงานชาติ เพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนให้สูงขึ้น
นายกวิน ทังสุพานิช เลขานุการรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการยานยนต์แห่งชาติ ซึ่งมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงานเป็นประธาน ที่ประชุมจะมีการหารือเรื่องการกำหนดปีที่จำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี 100 เปอร์เซนต์ว่าจะเป็นปีใดในอนาคต เพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับทิศทางโลกที่มุ่งไปสู่อีวี ซึ่งเป็นส่วนในแผนของทั่วโลกที่กำหนดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ ซึ่งประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมทุกด้วนในแง่ ไฟฟ้าต้องเพียงพอ บนเชื้อเพลิงพลังงานสะอาด
ดังนั้น โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน จะมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นในแผนพลังงานชาติที่กำลังปรับปรุงใหม่ จะต้องปรับระบบส่งไฟฟ้าเพื่อรองรับการเปลี่ยนเปลี่ยนแปลง ในขณะเดียวกันฐานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยก็ต้องมีการสนับสนุนให้เกิดการปรับตัวรองรับ
นอกจากนี้ การมาของอีวี ก็จะมีผลไปยังการน้ำมัน ภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่เป็นรายได้คลังจะลดไปด้วย กระทบไปยังโรงกลั่นน้ำมัน พืชพลังงาน ไบโอดีเซล เอทานอล ก็เป็นโจทย์ที่ต้องคิด ร่วม เช่น การปรับไบโอดีเซลไปสู่น้ำมันอากาศยานหรือเจ็ทได้หรือไม่ รวมไปถึงการปรับไปสู่เวชสำอางก์ การสร้างความต้องการใหม่ของ โรงกลั่นและปิโตรเคมี ที่ต้องวางแผนไปผลิดปิโตรเคมีทดแทนการผลิตน้ำมัน ดังนั้น รัฐบาลจึงวางแผนไปสู่ปิโตรเคมีเฟส 4 ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินควรเกิดหรือไม่ นั้นก็ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยส่วนตัวเห็นว่าควรยกเลิกจะดีกว่า
“แผนพลังงานชาติ ตอบโจทย์กระแสโลกที่มุ่งลดภาวะโลกร้อนโ ดยการกำหนดจุดยืนของไทยถึงแนวทางลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2)ที่เข้มข้นเพื่อก้าวสู่การปล่อยสุทธิเป็นศูนย์(Carbon Neutral) เป็นแผนสมบูรณ์ภายในไม่เกินสิ้นปีนี้ก่อนประกาศใช้อย่างเป็นทางการในปี 2565-256 และแผนนี้จะชัดเจน ก่อนที่ไทยจะเข้าร่วมประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติปี 2564 หรือ COP26 ระหว่าง1-12พ.ย.64ซึ่งสหราชอาณาจักรและอิตาลีจะเป็นเจ้าภาพร่วม” นายกวินกล่าว
นายกวินกล่าวด้วยว่า หากไทยไม่ประกาศจุดยืนดังกล่าวอาจกระทบต่อการส่งออกและการเข้ามาลงทุนของต่างประเทศ(FDI) ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้เนื่องมาตรการลด CO2 เริ่มกลายเป็นประเด็นกีดกันทางการค้าในรูปแบบที่มิใช่ภาษี(NTB) เช่น สหภาพยุโรป(อียู) กำหนด Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ซึ่งเป็นมาตรการ เก็บภาษีคาร์บอนต่อสินค้านำเข้าจากประเทศที่มีมาตรฐานการลดปริมาณคาร์บอนที่ต่ำกว่าอียูที่จะเริ่มในบางสินค้าก่อนคาดจะประกาศปี 2566 เป็นต้น
นายองอาจ พงศ์กิจวรสิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในแผนงานของรัฐบาลก็ควรจะมองด้วยว่า ฐานผลิตรถยนต์สันดาปในปัจจุบันที่มีกำลังผลิตรวม 3 ล้านคัน/ปี มีอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และจ้างงานเป็นจำนวนมาก ควรจะได้รับการสนับสนุนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่อีวีอย่างไร ซึ่งในขั้นต้น คาดว่า อีวีน่าจะนำมาส่งเสริมหลักใน วินมอเตอร์ไซด์ รถบัสอีวี เช่น ขสมก.ก่อน เพื่อลดมลพิษ -สำนักข่าวไทย