5 พ.ค. – นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างฯ ชี้การพิสูจน์กำลังอัดของคอนกรีตที่ผนังปล่องลิฟต์ เป็นข้อมูลสำคัญหาสาเหตุตึก สตง. ถล่ม พร้อมแนะ 5 ข้อเสนอ การเก็บข้อมูลวัสดุ
การถล่มของอาคาร สตง. ยังคงเป็นคำถามถึงสาเหตุว่า อาคารสูงและใหญ่ขนาดนั้น ทำไมถึงถล่มได้อย่างง่ายดาย ขณะนี้ผ่านมาแล้วเดือนเศษ ยังไม่มีคำตอบถึงสาเหตุการพังถล่ม แม้มีการวิเคราะห์ถึงสาเหตุต่างๆ นานา แต่ยังไม่มีข้อยุติ เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2568 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปเจาะเก็บตัวอย่างลูกปูน เพื่อนำไปทดสอบกำลังอัดว่าได้ตามที่ออกแบบหรือไม่ มีกระแสวิจารณ์ถึงการเก็บลูกปูนที่เก็บเฉพาะบางตำแหน่งที่สมบูรณ์เท่านั้น หรือไม่อย่างไร
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย และอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้เดินทางไปดูพื้นที่อาคาร สตง. ถล่มเมื่อวันที่ 4 พ.ค. ได้มีข้อคิดเห็นว่า ขณะนี้หน้างานได้ทำการรื้อถอนซากอาคารจนถึงระดับพื้นดินแล้ว ตอนนี้เป็นโอกาสสุดท้ายที่จะเข้าถึงผนังปล่องลิฟต์ ที่ยังคงเหลือซากอยู่บางส่วนบริเวณชั้นใต้ดิน และเป็นจุดที่คาดว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นการถล่ม การพิสูจน์กำลังอัดของคอนกรีตที่ผนังปล่องลิฟต์ จึงเป็นข้อมูลที่สำคัญอย่างมากในการหาสาเหตุการถล่ม
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ กล่าวต่อว่า ได้เห็นภาพตัวอย่างการเก็บลูกปูนจากข่าว พบว่า เป็นการเก็บลูกปูนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-4 นิ้ว (75-100 มม.) ซึ่งเป็นก้อนลูกปูนขนาดใหญ่ และเก็บในบริเวณผนังที่มีความสมบูรณ์ ทำให้มีกระแสโต้แย้งว่าการเก็บลูกปูนดังกล่าว ครอบคลุมหรือไม่อย่างไร หรือมีการเลือกเก็บเฉพาะบางบริเวณหรือไม่นั้น ในประเด็นนี้ มีความเห็นว่า
- การเก็บตัวอย่างลูกปูนควรต้องมีการวางแผนล่วงหน้า พร้อมๆ กับการรื้อซากตึกถล่ม เนื่องจากโครงสร้างแต่ละส่วน เช่น เสา คาน ผนัง พื้น ใช้คอนกรีตที่มีกำลังอัดไม่เท่ากัน ควรวางแผนว่า วันไหนเก็บลูกปูน ตรงโครงสร้างบริเวณใด และต้องทำเครื่องหมาย มีภาพถ่ายชัดเจน เพื่อใช้เป็นหลักฐานภายหลัง
- การเก็บลูกปูนควรเก็บกระจายสุ่มให้ทั่ว อย่างครอบคลุม ตามหลักสถิติ จะได้ค่าสูงสุด ค่าต่ำสุด ค่าเฉลี่ย ค่าความแปรปรวน ต้องมีจำนวนลูกปูนที่มากพอ และควรเก็บทั้งบริเวณที่สมบูรณ์และไม่สมบูรณ์ เพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์ในเชิงเปรียบเทียบกันได้
- การเก็บลูกปูนมีหลายวิธี ควรนำเทคโนโลยีและงานวิจัยสมัยใหม่มาร่วมเก็บข้อมูลด้วย เช่น ในบริเวณโครงสร้างที่ไม่สมบูรณ์ และไม่สามารถเก็บลูกปูนขนาดใหญ่ได้ สามารถเก็บลูกปูนขนาดเล็ก ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 1 นิ้ว (25 มม.) ตามมาตรฐาน NDST 3439 ของประเทศญี่ปุ่น หรือ สามารถเก็บผงปูนไปทำการวิเคราะห์หากำลังอัดตามแนวทางงานวิจัยของมหาวิทยาลัยโตเกียวที่เพิ่งมีรายงานผลการวิจัยเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา
- ควรเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์และการหากำลังอัดของคอนกรีตจากซากคอนกรีตมาร่วมให้ข้อแนะนำด้วย จะทำให้เห็นมุมมองจากต่างชาติทางด้านนิติวิศวกรรมศาสตร์
- ซากชิ้นส่วนที่เก็บตัวอย่างแล้ว ไม่ควรทำลายทิ้งทันที แต่ควรตัดแบ่งเป็นชิ้นย่อย แล้วนำไปเก็บไว้เป็นหลักฐาน ที่ทำให้ผู้เชี่ยวชาญสามารถนำมาวิเคราะห์ในภายหลังได้
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ กล่าวว่า เป็นที่น่าเสียดายมาก หากเราไม่ดำเนินการ 5 ข้อข้างต้นนี้ การเก็บข้อมูลวัสดุ ก็อาจเป็นเรื่องที่ไม่มีน้ำหนักพอ และมีข้อโต้แย้งได้ในภายหลัง และตอนนี้ เหลือเวลาไม่มากแล้ว ที่หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ควรจะต้องพิจารณาแนวทางเก็บข้อมูลให้เหมาะสม เพราะหลังจากนี้ จะย้อนกลับมาเก็บข้อมูลอีกคงเป็นไปไม่ได้แล้ว.-411-สำนักข่าวไทย