กรุงเทพฯ 15 พ.ค. – “พิชัย” ดึงแบงก์รัฐออกมาตรการอุ้มภาคธุรกิจ ปล่อยกู้ Soft Loan วงเงิน 100,000 ล้านบาท สั่งลดกำไร-ลดดอกเบี้ย ตั้งเป้าช่วยธุรกิจส่งออกตลาดสหรัฐ รับมือวิกฤติกำแพงภาษี ออมสินเด้งรับลูก ลดดอกเบี้ยร้อยละ 2-3 กับผู้ได้รับผลกระทบ
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประชุมร่วมกับผู้บริหารแบงก์รัฐ เพื่อออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือภาคธุรกิจไทย ที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศนโยบายภาษีสหรัฐอเมริกาเป็นการเร่งด่วน กระทรวงการคลังได้สั่งการ การลดเป้าหมายกำไรจากการทำธุรกิจ เพื่อจัดสรรเม็ดเงินมาจัดทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยแบงก์รัฐ 7 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน, ธ.ก.ส., ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.), SME D Bank , EXIM Bank ,Ibank และ บสย.
มอบหมายให้ ออมสินทำโครงการสินเชื่อ Soft Loan วงเงิน 100,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ให้กับแบงก์อื่นคิดดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 จากนั้น ธนาคารนำไปปล่อยกู้เติมสภาพคล่องให้กลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) ธุรกิจส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา 2) ธุรกิจ Supply Chain และ 3) ธุรกิจผู้ผลิตสินค้าที่ต้องมีการแข่งขันสูงกับสินค้านำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศ ตลอดจนผู้ประกอบการ SMEs ในภาพรวม และสถาบันการเงินของรัฐอื่นเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคเกษตรกรรม และภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงออกมาตรการลดดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบของนโยบายภาษีสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลต่อผู้ส่งออก SMEs/Supply Chain เตรียมการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา
นายพิชัย ย้ำว่า เตรียมหารือกับแบงก์ชาติเพิ่มเติม เพื่อให้แบงก์พาณิชย์มาร่วมดูแลเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากการส่งออก รวมถึงกลุ่มอสังหาฯ เพราะกระทบไปหลายส่วน กลุ่มท่องเที่ยว ต้องดูแลเพิ่มเติม เพราะเศรษฐกิจไทย อาจได้รับผลกระทบหนักในช่วง 2 ปี ข้างหน้า แต่ไม่แตกต่างจากประเทศอื่น โดยแบงก์รัฐ ยังมีความเข้มแข็ง จึงนำมาช่วยเหลือผู้ประกอบการ ภายใต้สภาวะความผันผวนภาคธุรกิจไทยต้องเผชิญความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกที่ส่งกระทบต่อความเชื่อมั่นและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ แบงก์รัฐ มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ผ่านการขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือประคับประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤติ เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตอย่างเข้มแข็งยั่งยืนในระยะยาว
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า โครงการสินเชื่อ Soft Loan วงเงิน 100,000 ล้านบาท โครงการเดิมปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอีครอบคลุมทุกกลุ่ม ปล่อยกู้ไปแล้ว 75,000 ล้านบาท ครบกำหนดในสิ้นปี 69 แล้วแต่วงเงินจะหมด ส่วนโครงการใหม่ 1 แสนล้านบาท เน้นเฉพาะกลุ่มผู้ส่งออกมีปัญหาไปสหรัฐ แบงก์ต่างๆปล่อยกู้ให้เอกชนคงคิดดอกเบี้ยใกล้เคียงกันร้อยละ 3.5 หากวงเงินเต็มโควต้า 1 แสนล้านบาท ออมสิน พร้อมขยายเพิ่มเติม นอกจากนี้ออมสิน ยังช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ หากมีปัญหา จึงรีบแจ้งเข้ามา จะลดดอกเบี้ยจากเดิมร้อยละ 2-3 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประกอบการ.-515- สำนักข่าวไทย