กรุงเทพฯ 24 ก.ค. – ภาคตลาดทุน ยอมรับสถานการณ์การเมืองไม่แน่นอนกระทบการลงทุนบ้าง แต่รอได้หากได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ขณะที่ภาคเอกชนขอให้รัฐบาลใหม่ต้องดูแลเศรษฐกิจปากท้อง ผลักดันจีดีพีโต 5-7% ใน 2-3 ปี
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงการจัดตั้งรัฐบาลที่อาจล่าช้าออกไปจะส่งผลกระทบต่อภาคการลงทุนหรือไม่นั้น โดยมองว่ามีทั้งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบและไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งนักลงทุนควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นนักลงทุนในตลาดทุนไทยพิจารณาจากทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย หากเศรษฐกิจโลกดี ฟันโฟลว์ก็ไหลออก หากเศรษฐกิจไทยดี ฟันโฟล์วก็ไหลเข้าอย่างไรก็ตาม เมื่อดูภาพรวมตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ตลาดทุนไทยมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง แม้จะมีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นในช่วงระยะดังกล่าว
ด้าน นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) มองว่าหากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไปอีก 1-2 เดือน แต่ถ้าได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ภาคตลาดทุนก็สามารถรอได้ แต่ระหว่างทางที่รอ ยังต้องประคองหัวใจของเศรษฐกิจ หนึ่งในนั้น คือ การท่องเที่ยว ซึ่งหาสามารถขับเคลื่อนการท่องเที่ยวให้เดินหน้าไปได้ก็ยังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ซึ่งรัฐบาลรักษาการยังดำเนินการได้ เช่น การผ่อนปรนข้อกำหนดต่างๆ ที่เอื้อต่อการท่องเที่ยว เช่น ยกเว้นการทำวีซ่า ส่วนเรื่องงบประมาณปี 2567 น่าจะมีการเตรียมความพร้อมเรื่องงบประมาณจ่ายไปพลางก่อนแล้ว โดยยึดเกณฑ์ในปีงบประมาณที่ผ่านมา จึงยังไม่น่าได้รับผลกระทบมาก เมื่อใช้งบประมาณไปก่อน 3 เดือน เงินงบประมาณที่ยังมีอยู่ก็เพียงพอในการกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังมีการใช้งบประมาณ มองไปข้างหน้าว่าหากการเมืองต้องใช้เวลา เราจะขับเคลื่อนเศรษศฐกิจให้เดินหน้าไปได้อย่างไร
ขณะที่ นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการ บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน ยอมรับว่าสถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาลที่ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน มีผลต่อการตัดสินใจการลงทุนจากกลุ่มลูกค้าอมตะบางส่วนที่ชะลอการลงทุนในขณะนี้ เนื่องจากกังวลเรื่องการชุมนุมที่อาจเกิดขึ้นได้ จากประสบการณ์ที่นักลงทุนเคยเผชิญในไทย เมื่อ 9-10 ปีที่ผ่านมา เพราะมองว่าเป็นเรื่องความขัดแย้งของคนในประเทศที่อาจส่งผลต่อการประท้วงและขยายความรุนแรงหรือไม่ จึงมีการประเมินสถานการณ์การลงทุนอีกครั้ง
ส่วนเรื่องกรณีที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลที่มีนโยบายค่าแรงขั้นค่ำ 600 บาท มองว่าการปรับขึ้นค่าแรงไม่ควรใช้ประชานิยม แต่ควรใช้เหตุผล ซึ่งเห็นด้วยว่า ค่าจ้างแรงงานไทยไม่สูง แต่การปรับขึ้นจำเป็นต้องเป็นขั้นตอนเช่น มาตรฐานการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำต้องขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ต่อปี โดยต้องพิจารณาจากดัชนีเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ ซึ่งจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานจำนวนมาก ได้ประโยชน์กับทุกฝ่าย หากผู้ประกอบการได้รับกระทบ และต้องปิดตัวลง แรงงานได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน รัฐบาลก็ต้องมีการกระตุ้นให้เกิดการลงทุน ดึงเม็ดเงินจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นด้วยเช่นเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้
สำหรับความคาดหวังต่อรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศ ต้องการให้ยึดหลักการขับเคลื่อนเศษฐกิจเป็นสิ่งสำคัญที่สุดอันดับแรก เพื่อเร่งแก้ปัญหาปากท้องให้คนไทยกินดีอยู่ดี และผลักดันการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) โตขึ้น 5-7% ในระยะเวลา 2-3 ปีนี้ เพื่อลดปัญหาทางสังคมของประเทศที่กำลังเผชิญอยู่ ทั้งอาชญกรรมและประชารที่เพิ่มขึ้น สะท้อนตัวอย่างจากหลายประเทศ เช่น จีน และอินโดนีเซีย ที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตเฉลี่ย 9% มาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัจจุบันมีภาพรวมทางเศรษฐกิจที่ดี จำนวนคนจนลดลง จากอดีตที่เคยมีคนจนสูงที่สุดในโลก นอกจกานี้ยังต้องสร้างเศรษฐกิจสีเขียว สนับสนุนอุตสาหกรรมการลงทุนที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ และเน้นการพัฒนาที่มีเทคโนโลยี นำไปสู่การสร้างความยั่งยืน ซึ่งวันนี้เราไม่มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง รายได้ต่อหัวจึงไม่สูงขึ้นหากเทียบกับ จีน เวียดนาม ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ที่ได้เม็ดเงินลงทุนและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ.-สำนักข่าวไทย