กรุงเทพฯ 5 ก.ค.-“กกร.” คงประมาณการ GDP ปี 2566 ไทยยังโต 3-3.5% จากท่องเที่ยวหนุน แต่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวจึงหั่นกรอบการส่งออกเหลือ -2% ถึง 0% ส่วนเงินเฟ้อเหลือ 2.2% – 2.7% กังวลต้นทุนค่าไฟฟ้า ย้ำงวด ก.ย.-ธ.ค. ไม่ควรเกิน 4.25 บาท
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร. ยังคงกรอบประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP)ปี 2566 ไว้ที่ 3%- 3.5% เนื่องจากเศรษบกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้จะสูงขึ้นไปถึง 29-30 ล้านคน แต่ทั้งนี้ กกร. ได้ปรับตัวเลขการส่งออกจากเดิม -1% – 0% เป็น – 2% – 0% และปรับเงินเฟ้อจากเดิม 2.7%ถึง 3.2% เป็น 2.2% ถึง2.7% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มชะลอลงมากในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ประกอบกับเงินบาทอ่อนค่า
“เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตหลักๆมาจากการท่องเที่ยวที่คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะขึ้นไปถึง 29-30 ล้านคนประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนถูกกดดันจากค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือนในระดับสูงที่ 90.6% ต่อGDP ทำให้ผู้บริโภคมีข้อจำกัดและระวังการใช้จ่าย ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะจากฝั่งตะวันตก ส่วนเงินเฟ้อนั้นยังคงมีความเสี่ยงจากภัยแล้ง และค่าแรงในระยะต่อไป แต่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะต่ำลงจากที่ประเมินไว้เดิมตามทิศทางราคาพลังงาน” นายผยงกล่าว
นายผยงยังกล่าวถึงการปรับปรุงนิยามและข้อมูลหนี้ครัวเรือนของ ธปท. ให้ครอบคลุมมากขึ้น ทำให้ ณ ไตรมาสที่ 1 ปี2566 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 90.6% ต่อจีดีพี หรือสูงกว่าตัวเลขเดิมก่อนปรับปรุงราว 4% ต่อจีดีพี (7.65 แสนล้านบาท) ที่ประชุม กกร. มองว่าเป็นประโยชน์ต่อการวางแนวทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างรอบด้าน จากเดิมที่มองเห็นหนี้ในธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ กลุ่ม non-bank และสหกรณ์ออมทรัพย์ เป็นหลัก ข้อมูลที่ปรับปรุงใหม่ได้ครอบคลุมไปถึงหนี้เพื่อการศึกษา (กยศ.) การเคหะแห่งชาติ ธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ และสหกรณ์ที่ไม่ใช่สหกรณ์ออมทรัพย์
ทั้งนี้ การจะแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างยั่งยืน จึงต้องเป็นการฟื้นฟูศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจ ยกระดับทักษะแรงงานและผลิตภาพแรงงาน นำไปสู่รายได้ที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่อยากให้รัฐบาลใหม่ร่วมหาแนวทางกับภาคเอกชน เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ทั้งแรงงาน ผู้ประกอบการ และรัฐบาล ในระหว่างนี้ที่เศรษฐกิจฟื้นตัวไม่เต็มที่ ภาคการเงินยังต้องประคับประคองลูกหนี้กลุ่มเปราะบางต่อไป แม้จะมีต้นทุนต่อระบบบ้าง นอกจากนี้ยังรวมไปถึงกลุ่ม30% ที่ไม่ได้อยู่ในระบบภายใต้การกำกับของ ธปท.
กกร.เสนอ ภาครัฐควรเร่งสนับสนุนการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ ในประเทศที่ยังขยายตัวได้เช่นจีนอินเดียและกลุ่มประเทศตะวันออกกลางเพื่อทดแทนการส่งออกในประเทศหลักที่ลดลงโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป และกกร.มองว่าขณะนี้ตลาดการท่องเที่ยสเป็ยเครื่องยนต์หลักตัวเดียวในการขับเคลื่อนประเทศ โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีน ดังนั้นภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการเร่งเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการออกหนังสือเดินทางรวมถึงการดูแลด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว รวมถึงเร่งเพิ่มเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายของภาครัฐ
นอกจากนี้ ที่แระชุม กกร.ยังมีความกังวลภาระต้นทุนของผู้ประกอบการที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะต้นทุนค่าไฟฟ้าที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมจะพิจารณาค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดก.ย.-ธ.ค. ซึ่งหากพิจารณาจากปัจจัยที่นำมาคำนวณค่า ft แล้ว พบว่า มีปัจจัยบวกให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้กว่า 10% จากงวดพ.ค.-ส.ค. และคาดว่าไม่ควรเกิน 4.25 บาท/หน่วย จากเดิม 4.70 บาท/หน่วย จึงขอให้พิจารณาขยายเวลาการคืนหนี้ให้กฟผ. จาก 5 งวด เป็น 6 งวด เพื่อให้ค่า Ft ลดลงอีก 10 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่ง กฟผ. จะได้รับเงินคืนครบภายในเดือนสิงหาคม 2568 .-สำนักข่าวไทย