กทม. 23 มี.ค. – นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ทพ.ดร.พรชัย จันศิษยานนท์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกันในโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัสดุชั้นสูงและการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ และการแพทย์ทางไกลในด้านการดูแลสุขภาพสำหรับสุขภาพช่องปากและการรักษาทางทันตกรรม
ดร.บุรณิน กล่าวว่า ความร่วมมือครอบคลุมการพัฒนาการบริการและการรักษาทางทันตกรรมด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ การแพทย์ทางไกล หรือTelemedicine การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ช่วยในการวินิจฉัยโรค และการพัฒนาผลิตภัณฑ์และวัสดุชั้นสูงโดยใช้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล/ AI และหุ่นยนต์ (Robotics) ของ ปตท. ผนวกกับความเชี่ยวชาญในการพัฒนาและทดสอบผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ และการบริการทางทันตกรรมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลของคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งนอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาโรคทางทันตกรรมได้อย่างแม่นยำ และเพิ่มโอกาสให้คนไทยได้เข้าถึงการแพทย์สมัยใหม่ที่สะดวก รวดเร็ว มากยิ่งขึ้น เพราะปัจจุบันปัญหาที่พบคือ การต่อคิวรักษาฟันที่ต้องมาที่โรงพยาบาล ดังนั้นความร่วมมือนี้ก็จะกระจายการตรวจรักษาไปยังพื้นที่อื่นๆ ได้ด้วย Telemedicine ซึ่งอาจเป็นปั๊มน้ำมัน หรือพื้นที่ห่างไกลอื่นๆ รูปแบบเช่นนี้ ยังช่วยส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางทันตกรรม ให้เป็นต้นแบบนวัตกรรมที่จะช่วยยกระดับมาตรฐานการแพทย์ของประเทศให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ดร.บุรณิน ยังกล่าวด้วยว่า แนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจใหม่และนวัตกรรมของ ปตท.เดินหน้าตามแผนงานส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ภายใต้เป้าหมายการประกาศเจตนารมณ์ของกลุ่ม ปตท. ถึงประเด็นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 เช่นการลงทุนใน บริษัท ฮอริษอน พลัส จํากัด ทั้งเรื่องของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และเรื่องของแบตเตอรี่ ขณะที่ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เพิ่มทุนจดทะเบียนแล้วกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท ในส่วนของรถเช่าอีวี 2,000 คัน มีคนเช่าต่อเนื่องสัดส่วน 70 % ส่วนโครงการร่วมทุนกับบริษัท โลตัส ฟาร์มาซูติคอล จำกัด (Lotus Pharmaceutical) บริษัทยาระดับโลกของไต้หวัน ก็สามารถทำตลาดได้ดี และในปี 2565 โลตัส ฟาร์มาซูติคอล มียอดขายที่ 15,000 ล้านบาท ทำกำไรได้เกือบ 2,000 ล้านบาท . – สำนักข่าวไทย