กรุงเทพฯ 24 ต.ค.- อธิบดีกรมปศุสัตว์พร้อมหัวหน้าด่านกักกันสัตว์ชลบุรียื่นฟ้อง “อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์” ต่อศาลอาญา ข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา กรณีให้ข่าวและไลฟ์ผ่านโซเชียลมีเดีย กล่าวหาว่า ทุจริตเรื่องหมูเถื่อนที่ท่าเรือแหลมฉบัง ชี้กรมปศุสัตว์ทำหน้าที่รับขยะมาทำลายจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ยืนยันความโปร่งใส โดยดำเนินการในรูปแบบคณะทำงานร่วม 5 ภาคส่วน จึงพร้อมให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ ย้ำหมูเถื่อนคดีพิเศษที่เหลือ 140 ตู้จะเข้าสู่กระบวนการทำลายวันพรุ่งนี้
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ พร้อมด้วยนายสัตวแพทย์จิรภัทร อินทร์สุข หัวหน้าด่านกักกันสัตว์ชลบุรีได้ยื่นฟ้องนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมต่อศาลอาญา ถนนรัชดา กรุงเทพฯ ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา จากการใส่ความตนและข้าราชการกรมปศุสัตว์เป็นเจ้าหน้าที่รัฐทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ ปกปิดข้อเท็จจริง ไม่รายงานต่อผู้บังคับบัญชา ซึ่งการให้ข้อความเท็จดังกล่าวเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดต่อบุคคล ทำให้ได้ความเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงของตนและผู้ใต้บังคับบัญชา รวมถึงต่อกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ทั้งนี้ผู้ถูกฟ้องร้องได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนหลายช่องทาง รวมถึงถ่ายทอดสดผ่านโซเชียลมีเดียซึ่งเป็นการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อสังคมหลายครั้งหลายหน การกล่าวหาดังกล่าว ทำให้ได้รับความเสียหาย ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง เสื่อมเสียชื่อเสียง โดยตั้งแต่รับตำแหน่งอธิบดีกรมปศุสัตว์ขับเคลื่อนนโยบายปราบปรามสินค้าปศุสัตว์เถื่อนมาตลอด จนข้าราชการกรมปศุสัตว์ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเสมอมา จนกระทั่งหัวหน้าด่านกักกันสัตว์เพชรบูรณ์ที่เข้าตรวจสอบหมูเถื่อนในห้องเย็นแห่งหนึ่ง ถูกยิงเสียชีวิต
อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้นายอัจฉริยะได้ยื่นหนังสือและหลักฐานต่อกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษอธิบดีกรมปศุสัตว์และพวกร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 ในกรณีมีกลุ่มบุคคลและนิติบุคคลมีการปลอมเอกสารราชการของกรมปศุสัตว์สวมสิทธิ์การส่งออกตีนไก่ไปจีน สร้างความเสียหายอย่างมากแต่นายสมชวนกับพวกกับเพิกเฉยไม่ดำเนินการใดๆ
สำหรับการฟ้องร้องของอธิบดีกรมปศุสัตว์เรียกร้องค่าเสียหาย 5 ล้าน ส่วนหัวหน้าด่านกักกันสัตว์ชลบุรีเรียกค่าเสียหาย 3 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 8 ล้านบาท ยืนยันจะไม่ไกล่เกลี่ยเด็ดขาด หากชนะคดีจะนำเงินที่ได้ไปทำสาธารณกุศล
อธิบดีกรมปศุสัตว์ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ในการทำลายหมูเถื่อน 161 ตู้ในคดีพิเศษที่ 59/2566 ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้รับมอบของกลางจากกรมศุลกากรนั้น เป็นการรับมอบขยะมาทำลาย จึงไม่ใช่เรื่องง่าย โดยทันทีที่ได้รับมอบซากชิ้นส่วนสุกรของของกลางจากกรมศุลกากรแล้ว เมื่อวันที่ 29-30 กันยายน 2566 กรมปศุสัตว์ได้เผาทำลาย 1 ตู้ ณ สำนักงานชลประทานที่ 9 จังหวัดชลบุรีและนำไปฝังทำลายจำ 20 ตู้ ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์สระแก้ว ตำบลคลองไก่เถื่อน อำเภอคลองหาน จังหวัดสระแก้ว ช่วงระหว่างวันที่ 1-3 ตุลาคม 2566
ต่อมามีการคัดค้านการฝังทำลายซากสุกรดังกล่าวจากชาวบ้านในพื้นที่ คณะทำงานร่วม 5 ภาคส่วนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนได้แก่ กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สภาเกษตรกรแห่งชาติ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ จึงได้ประสานเพื่อนำตู้สินค้าของกลาง 140 ตู้ที่ยังไม่ได้ฝังทำลายกลับเก็บรักษาที่ท่าเรือแหลมฉบังชั่วคราว โดยจัดให้มีรถตำรวจทางหลวงนำขบวนรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ แล้วมีรถของเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ กรมศุลกากร กรมสอบสวนคดีพิเศษปิดท้ายขบวน เพื่อนำมาจัดเก็บไว้ที่ลานกลางทุ่ง สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง
ล่าสุดได้จัดหาสถานที่ทำลายใหม่ได้แล้วที่จังหวัดปราจีนบุรี วันพรุ่งนี้คณะทำงานร่วมฯ จะตรวจสอบของกลางอีกครั้งเพื่อเริ่มต้นกระบวนการทำลาย โดยจะทำลายของกลางทั้งหมดให้เร็วที่สุด ส่วนสินค้าตกค้างประเภทอื่น (ไก่ โค กระบือ) จำนวน 74 ตู้ ซึ่งมีหนังสือส่งมอบจากสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ในปี 2565 (ช่วงเดือนพฤศจิกายน) จำนวน 7 ตู้และในปี 2566 จำนวน 67 ตู้ อยู่ระหว่างหาสถานที่ที่เหมาะสมเพื่อนำของกลางไปทำลายอย่างเร่งด่วนเช่นกัน
อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวย้ำว่า ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าปศุสัตว์ผิดกฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดสัตว์ ปกป้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์จากการถูกแทรกแซงราคา จึงต้องสร้างความเป็นธรรมให้แก่เกษตรกรเพื่อให้มีความมั่นใจในอาชีพ พร้อมที่จะเพิ่มผลผลิตด้านการเกษตร เติมเต็มความมั่นคงทางอาหาร สร้างประโยชน์เพื่อคนไทยและประเทศชาติ ตลอดจนเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค โดยตลอดปี 2565 ถึงปัจจุบัน เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ได้ร่วมกับตำรวจ ทหาร ศุลกากร เข้าตรวจสอบผู้ประกอบการสินค้าประเภทซากสุกรรวมจำนวนทั้งสิ้น 238 ครั้ง สามารถจับกุมซากชิ้นส่วนสุกรซึ่งมีแหล่งผลิตต้นทางจากประเทศบราซิล อิตาลี เยอรมนี ลักลอบนำเข้า น้ำหนักรวม 1,142,487 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ากว่า 190 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย