นนทบุรี 24 มี.ค. – รัฐมนตรีช่วยพาณิชย์เร่งกรมทรัพย์สินทางปัญญารับจดสินค้า GI แต่ละจังหวัด หวังสร้างรายได้เกษตรกรสูงขึ้น ประกาศชัดตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.61 ไทยจะรับจดและตรวจเช็คเครื่องหมายการค้าเสร็จเพียง 9 เดือน
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ Geographical Indication หรือ GI 4 รายการ เพิ่ม ได้แก่ ลองกองตันหยงมัส จ.นราธิวาส ทุเรียนปราจีน จ.ปราจีนบุรี สับปะรด บ้านคา จ.ราชบุรี และลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน จ.ลำพูน ทำให้ปัจจุบันมีสินค้าไทยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น GI แล้ว 75 สินค้า จาก 53 จังหวัดเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา และขณะนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ระหว่างพิจารณาคำขอขึ้นทะเบียน GI จาก 15 จังหวัด ยังเหลืออีก 9 จังหวัด ที่ยังไม่มีการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์และได้สั่งการให้นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เร่งส่งเสริมและประสานงานจังหวัดต่าง ๆ เพื่อให้ทั้ง 77 จังหวัด มีสินค้า GI ครบทุกจังหวัดและมีของดีสร้างรายได้มูลค่าเพิ่มสินค้าที่ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI กันต่อไป
อย่างไรก็ตาม แผนดำเนินงานปี 2560 ได้ให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาลงพื้นที่ 6 จังหวัดที่ยังไม่มีการขึ้นทะเบียน หรือยื่นคำขอเพื่อขึ้นทะเบียน GI ได้แก่ กระบี่ กาญจนบุรี ระนอง สตูล สมุทรสาคร สิงห์บุรี และกำแพงเพชร โดยกรุงเทพฯ และสระแก้วลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับจังหวัดและผู้ผลิตแล้ว รอการยื่นคำขอ และได้รับรายงานตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมากรมทรัพย์สินทางปัญญาประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัดเกษตรกร ผู้ผลิตและผู้เกี่ยวข้องไปบ้างแล้ว เช่น สมุทรสาคร สิงห์บุรี กาญจนบุรี และกระบี่ เพื่อลงไปสัปดาห์หน้า เพื่อจะดึงสินค้าที่มีการขึ้นทะเบียน GI ไว้แล้ว และมีแผนที่จะส่งเสริมให้มีการพัฒนาคุณภาพของสินค้าที่ผลิตในท้องถิ่นให้ดีขึ้น ส่งเสริมการตลาดและสร้างการรับรู้คุณภาพ ชื่อเสียงของสินค้า GI ไทยทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อให้สินค้าจำหน่ายราคาสูงขึ้น ถือเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนและท้องถิ่น
ทั้งนี้ ไม่ใช่เฉพาะการเดินหน้าเร่งส่งเสริมสินค้า GI ที่จะเป็นของดีแต่ละจังหวัดเท่านั้น ตอนนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ระหว่างการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงขั้นตอนการให้บริการในด้านต่าง ๆ มีความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะขั้นตอนการยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เนื่องจากปัจจุบันการยื่นขอจดเครื่องหมายการค้าจะใช้เวลาตั้งแต่ 9-16 เดือน เพื่อตรวจเช็คซ้ำซ้อนกันหรือไม่ จึงใช้เวลานาน แต่เพื่อให้มาตรฐานการยื่นจดเครื่องหมายการค้า โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียนที่จะใช้มาตรฐานเดียวกัน ประเทศไทยอยู่ระหว่างปรับลดขั้นตอนจาก 9-12 เดือนให้เหลือเพียง 9 เดือน คาดว่าตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2561 เป็นต้นไปการยื่นจดและตรวจสอบเครื่องหมายการค้าของกรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทยจะใช้เวลาไม่เกิน 9 เดือน รองจากสหรัฐอเมริกาและสิงคโปร์ในการให้บริการรับจดเครื่องหมายการค้าแบบใช้เวลาเพียง 9 เดือนเท่านั้นตามแนวนโยบายการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญาด้วยการมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์ ในเชิงพาณิชย์ ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาของชุมชนและประเทศ พร้อมเร่งส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสินค้าที่มีศักยภาพเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI อย่างน้อย 1 สินค้าต่อ 1 จังหวัด ตั้งเป้าหมายให้ครบ 77 จังหวัดภายในปีนี้
อย่างไรก็ตาม สินค้า GI มาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจงโดยคุณภาพหรือชื่อเสียงของสินค้าจะมีความเชื่อมโยงกับแหล่งภูมิศาสตร์ที่มีการผลิตสินค้านั้น ไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ อากาศ และภูมิปัญญาของชุมชนในท้องถิ่น ส่งผลให้สินค้านั้นแตกต่างกับสินค้าประเภทเดียวกันที่ผลิตในแหล่งอื่น ซึ่งจุดเด่นนี้ และการได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ จะช่วยสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคว่าเป็นสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตแท้จริง เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า GI และ ส่งเสริมเศรษฐกิจของท้องถิ่นแหล่งกำเนิดสินค้าให้เพิ่มมากขึ้นได้ในอนาคตอย่างแน่นอน.-สำนักข่าวไทย