ทำเนียบรัฐบาล 17 พ.ค. – “จุรินทร์” เผยพาณิชย์ทำงานเชิงรุก คุมราคาสินค้าในภาวะน้ำมันแพง ไม่ให้ค้ากำไรเกินควร พร้อมตั้งคณะทำงานดูแลปาล์มทั้งระบบ ทั้งราคา-ปริมาณไม่ให้ขาดแคลน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีราคาสินค้าที่ยังสูงว่า ทั้งหมดเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่แพงขึ้น และส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและค่าขนส่ง โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล ค่าขนส่งจะสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ทำให้ราคาสินค้าต้องปรับสูงขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม การเข้าไปดูแลปลายทางหรือปลายเหตุ กระทรวงพาณิชย์มีมาตรการทั้งเชิงรุกและเชิงลึกแก้ไขปัญหา โดยพิจารณาอนุญาตให้ปรับราคาขึ้น แต่ต้องดูรายละเอียดของสินค้าแต่ละตัว ไม่เช่นนั้นจะกระทบกับผู้บริโภคเกินสมควร
“ถ้าพบว่าสินค้ารายใดเข้าข่ายการค้ากำไรเกินควร จะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด ได้สั่งการพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัดร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการดูแลเรื่องราคาสินค้าและบริการของจังหวัด เข้าไปบริหารจัดการ ถ้าพบการค้ากำไรเกินควรมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” รัฐมนตรีว่ากากระทรวงพาณิชย์ กล่าว
นายจุรินทร์ กล่าวถึงราคาปาล์มว่า เกษตรกรพอใจมาก เพราะราคาผลปาล์มสูงขึ้นจาก 2-3 ปีที่แล้ว กิโลกรัมละกว่า 2 บาท ขณะนี้ขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 11-12 บาท เป็นที่พอใจของเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน แต่จะมีผลให้ผู้ประกอบการโรงสกัดและโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มขวดบริโภคมีต้นทุนสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เรียกประชุมทุกฝ่าย พยายามกำกับราคาน้ำมันปาล์มบริโภคไม่ให้กลายเป็นค้ากำไรเกินควรและพยายามกดราคาลงมา ขณะนี้ถ้าผลปาล์มกิโลกรัมละ 11-12 บาท ราคาน้ำมันปาล์มขวดตามโครงสร้างต้องขึ้นเป็นประมาณ 75-76 บาทต่อขวด แต่กระทรวงพาณิชย์ดูให้อยู่ในราคาประมาณ 65- 68 บาท ปรับลงมาประมาณ 10 บาท
รัฐมนตรีว่ากากระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าความคืบหน้าล่าสุด ได้ประชุมคณะกรรมการนโยบายตลาดปาล์มพิจารณาดูเรื่องปาล์มครบวงจร ทั้งราคาผลปาล์มดิบ น้ำมันปาล์มขวดบริโภคให้อยู่ในราคาที่เหมาะสม ไม่ค้ากำไรเกินควรและดูปริมาณไม่ให้ขาดตลาด คณะอนุกรรมการชุดนี้จึงดูทั้งราคาและป้องกันสินค้าขาดตลาด โดยจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มแห่งชาติวันที่ 23 พฤษภาคมนี้ จากนั้นจะประชุมคณะอนุกรรมการฯ ทุกฝ่ายมาดูแลปาล์มทั้งระบบและสั่งการให้ตรวจสต๊อกทุกสัปดาห์และรายงาน ซึ่งคิดว่าเป็นรูปธรรมที่สุด เป็นทั้งนโยบายเชิงรุกและนโยบายเชิงลึก
“ก่อนหน้านี้ราคาผลปาล์มตกต่ำ จึงเป็นที่มาที่ส่งเสริมให้ใช้น้ำมันปาล์มมากขึ้น โดยผสมกับน้ำมันดีเซลเป็น บี 7 บี 10 บี 20 แต่พอถึงช่วงนี้น้ำมันปาล์มราคาสูงขึ้นมาก เมื่อผสมน้ำมันดีเซลทำให้ราคาสูงตามไปด้วย เป็นหน้าที่ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเป็นผู้พิจารณาว่าความเหมาะสมในสถานการณ์นี้ว่าอยู่ตรงไหนอย่างไร โดยให้ผู้มีหน้าที่และเชี่ยวชาญโดยตรงเข้าไปพิจารณา โดยตนดูเรื่องราคาและปริมาณไม่ให้ขาดแคลน” นายจุรินทร์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย