รัฐสภา 28 ส.ค.-“ก่อแก้ว” ไม่ติดใจ เพื่อไทย ร่วมงาน ปชป. มองผลัดใบแล้ว บอก “เฉลิมชัย-แกนนำรุ่นใหม่” ไม่อยู่ในเหตุสลายชุมนุมปี 53 ชี้ “ชวน-บัญญัติ-จุรินทร์” เป็นไม้แก่ดัดยาก พาพรรคตกต่ำ ขออย่ามองสกัดพรรคประชาชน แค่ร่วมกันทำงาน
นายก่อแก้ว พิกุลทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แสดงความเห็นกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ตอบรับคำเชิญร่วมรัฐบาลจากพรรคเพื่อไทย โดยยอมรับว่าคนเสื้อแดงจำนวนมากยังติดใจกับคำว่าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เป็นองค์กรที่บริหารโดยผู้บริหารแต่ละยุคแต่ละสมัย ซึ่งผู้บริหารในยุคปัจจุบัน คือนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นหัวหน้าพรรคและคณะ เป็นผู้บริหารหลัก ไม่ได้เป็นกลุ่มคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง กับเหตุการณ์ในช่วงปี 2553 แต่อย่างใด ซึ่งเป็นคนละทีมกัน ซึ่งทีมที่มีปัญหา ในการออกคำสั่งใช้กำลังสลายการชุมนุม ด้วยความโหดเหี้ยม วันนี้ไม่อยู่กันแล้ว สลายกันไปหมด แยกย้ายกันไปหลายที่
”พรรคประชาธิปัตย์เป็นการผลัดคนกลุ่มใหม่เข้ามาทำหน้าที่บริหารแล้ว และเท่าที่ได้สัมผัส โดยส่วนตัวหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค ก็มีมุมมองต่อการเมืองที่ดี เป็นการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในเชิงบวก ไม่ฝักใฝ่ทหาร ไม่ฝักใฝ่อำนาจนอกระบบ และมีความตั้งใจที่จะจับมือกับพรรคการเมืองต่างๆ ในการขับเคลื่อนผลงาน ถ้าเป็นพรรครัฐบาลด้วยกัน โดยส่วนตัว ผมไม่ติดใจเลย แต่ถ้าเป็นบุคคลที่เคยเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปี 2553 และเข้ามาเป็นรัฐมนตรีอย่างนี้คงไม่เห็นด้วย“ นายก่อแก้ว กล่าว
เมื่อถามว่า แต่ชื่อของพรรคประชาธิปัตย์อาจทำให้คนเข้าใจพรรคเพื่อไทยผิดได้ นายก่อแก้ว กล่าวว่า ก็เป็นไปได้ จึงต้องอธิบายให้ฟังว่า คนละกลุ่มกัน กลุ่มนี้ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด และ อย่าลืมว่า กลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่มาแย่งชิงอำนาจ การบริหารพรรคประชาธิปัตย์ทำให้กลุ่มเดิมต้องทดถอยไปเรียกว่าหมดอำนาจในพรรค ซึ่งเป็นการดีเสียอีก เพราะทำให้สถาบันการเมืองเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้การเมืองของประเทศไทยกลับเข้าสู่ในระบบ ไม่เหมือนเมื่อก่อน เวลาแพ้เลือกตั้ง ก็จะนำเข้าออกมาชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาล แต่เท่าที่คุยกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรค และนายเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรค ไม่มีแนวคิดเรื่องพวกนี้ ตั้งใจทำการเมืองในระบบให้อยู่ในรัฐสภาให้ถูกต้องตามกระบวนการ ซึ่งอยากเห็นประชาธิปัตย์เป็นไปในทิศทางนี้ เพราะฉะนั้นการที่ได้ผู้บริหารชุดนี้มาร่วมงานกัน จึงเป็นเรื่องดีเสียอีกที่จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น ส่วนกลุ่มบุคคลที่เป็นผู้บริหารเก่าๆ ที่เคยนำพาพรรคประชาธิปัตย์ในทางที่ไม่ถูกต้อง จนทำให้พรรคประชาธิปัตย์ตกต่ำอย่างมาก วันนี้เห็นแล้วว่า ได้รับผลกลับ แม้กระทั่งสมาชิกเองก็ไม่ยอมรับ ประชาชนทั่วไปก็หนีหายไปหมด โหวตเตอร์ในภาคใต้ก็หันไปเลือกพรรคอื่นเสียส่วนใหญ่
“วันนี้ผมก็คาดหวังว่าการเข้ามาของพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้บรรยากาศการเมืองดีขึ้น ช่วยลดความขัดแย้ง ช่วยลดความอคติในใจของคนเสื้อแดงด้วย และของแฟนคลับที่เหนียวแน่นของพรรค ประชาธิปัตย์ด้วย ให้หันมาทำงานการเมืองในเชิงสร้างสรรค์ด้วยกัน แข่งขันการสร้างผลงานและสร้างนโยบายที่ดีให้กับประชาชน” นายก่อแก้ว กล่าว
ทั้งนี้ ในพรรคประชาธิปัตย์ ยังมีคนเก่าๆ อยู่ อาทิ นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน สส.บัญชีรายชื่อ และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎฺ์นั้น นายก่อแก้ว กล่าวว่า 3 คนนั้น เรียกว่าเป็นไม้แก่ที่ดัดยากดัดอย่างไรก็ไม่ได้ ห่วงอย่างเดียวว่า ถ้าทั้ง 3 คนนั้นออกมาขับเคลื่อนอะไรที่ขัดแย้งกับกลุ่มผู้บริหารชุดปัจจุบัน อาจมีมีปัญหาถูกขับไล่ออกจากพรรคได้ ก็ไม่อยากให้ท่านต้องถูกขับไล่ออกจากพรรค อยากให้อยู่ แต่ว่าอยากให้อยู่ในจุดที่มีมารยาทในการอยู่เหมือนกัน เพราะวันนี้มาร่วมเป็นรัฐบาลเดียวกันแล้ว ทุกท่านต้องเข้าใจกติกาการอยู่ร่วมกันและมารยาทของแต่ละคนต้องมี เพื่อให้พรรคร่วมรัฐบาลทำงานด้วยความสมานฉันท์และเดินหน้าสร้างผลงานได้ ถ้าขัดแข้งขัดขากันเอง ก็ไม่เหมาะที่จะมาเป็นรัฐบาลร่วมกัน การตัดสินใจนำประชาธิปัตย์มาร่วม สส. ในพรรคทุกคนโอเคใช่หรือไม่ นายก่อแก้ว กล่าวว่า โดยรวมถือว่าโอเค เนื่องจาก สส. เพื่อไทย ไม่ต้องการพรรคพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ก็เป็นโจทย์ที่ลงตัวในการแก้ปัญหา จากการที่ไม่เอาพรรคพลังประชารัฐ
ทั้งนี้ ประเมินถึงเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างไร นายก่อแก้ว กล่าวว่า ดูในการทำงานของสมัยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน มีการปรับตัวเข้าหากันอยู่แทบทุกเรื่อง มีบางเรื่องที่อาจจะเห็นต่างกันบ้างแต่ก็พยายามหาทางออก แล้วคุยกัน พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่เพิ่มเข้ามา ซึ่งมีแค่ 20 เสียง ถือว่าจำนวนน้อย ซึ่งก็เข้าใจสถานการณ์และต้องปรับตัวให้ได้เหมือนพรรคอื่นๆ ในการอยู่ร่วมกัน เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีข้อขัดแย้งสำคัญ ในนโยบายของแต่ละพรรค เชื่อว่าก็เดินหน้ากันไปเรื่อยๆได้ไม่มีปัญหา
นอกจากพรรคประชาธิปัตย์การเทียบเชิญพรรคอื่นๆ เช่น พรรคไทยสร้างไทย สส. พรรคเพื่อไทยรับได้หรือไม่ นายก่อแก้ว กล่าวว่า ยังไม่ได้คุยกันแล้วจากการติดตามสถานการณ์การเมือง เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยยังไม่มีแนวคิดในการเชิญพรรคอื่นที่อาจจะมีข้อขัดแย้งในการทำงานร่วมกัน ซึ่งเรื่องนี้ต้องเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ เท่าที่ติดตาม ผู้ใหญ่ก็พยายาม หาพรรคที่ทำงานด้วยกันได้ คุยกันได้ทุกเรื่อง อย่างที่ผ่านมาในสมัยคณะรัฐมนตรีนายเศรษฐา พรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคใหญ่และมีความเห็นต่างกันในเรื่องนโยบายกัญชา แต่สุดท้ายก็หาทางออกร่วมกัน ส่วนข้อขัดแย้งอื่น เชื่อว่าคุยกันได้ ไม่มีปัญหา โดยธรรมชาติการเมืองถ้ามีทิศทางเดียวกันและใกล้เคียงกันก็ไม่มีปัญหาเลย
ทั้งนี้ คนภายนอกมองว่าการรวมกันครั้งนี้เป็นเฉพาะกิจ เพื่อสกัดกั้นพรรคประชาชน นายก่อแก้วกล่าวว่า อย่าใช้คำว่าสกัดกั้น การเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเป็นการทำงานร่วมกัน ถ้ามีพรรคการเมืองใดที่มีแนวคิดแตกต่างกัน บางพรรคก็ไม่อยากไป จับมือด้วยเพราะทำงานด้วยกันยาก เพราะฉะนั้นการที่พรรครัฐบาลชุดปัจจุบันจับมือด้วยกันก็มองว่าอยู่ในกลุ่มทำงานด้วยกันได้ คุยกันได้และมีภาพรวมที่เข้าใจกัน.-315.-สำนักข่าวไทย